มารดาที่อ้วนควรได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคอ้วนส่วนใหญ่เป็นจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด สามารถป้องกันหรือลดโรคอ้วนได้จากการให้ลูกได้กินนมแม่ อย่างไรก็ตาม หากมารดามีภาวะอ้วนหรือโดยทั่วไปเมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายของมารดาก่อนการตั้งครรภ์เกิน30 kg/m2 แล้วจะพบว่ามีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมารดามักจะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสจะผ่าตัดคลอดสูง ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินจะมีผลต่อการผลิตและสร้างน้ำนม ทำให้พบมารดาที่อ้วนมีภาวะน้ำนมมาช้าได้ (delayed lactogenesis) ซึ่งมารดาเหล่านี้จะมีน้ำนมมาช้าเกินกว่า 72 ชั่วโมงหลังคลอด มีการศึกษาในมารดาที่มีโรคอ้วนถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีการควบคุมปัจจัยที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และให้การสนับสนุนและช่วยมารดาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีการประเมินความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่มารดาตั้งไว้คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือสามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยต่อเนื่องจนกระทั่งครบ 2 ปี พบว่าการประเมิน เอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องและการมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีโรคอ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญและควรมีการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เพื่อช่วยให้มารดามีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

  1. Lyons S, Currie S, Smith DM. Learning from Women with a Body Mass Index (Bmi) >/= 30 kg/m(2) who have Breastfed and/or are Breastfeeding: a Qualitative Interview Study. Matern Child Health J 2019.