รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ขณะที่มารดาตั้งครรภ์มักมีการบำรุงครรภ์โดยรับประทานอาหารมากเกินไป ทำให้มารดามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่เหมาะสมคือ น้ำหนักที่เพิ่มเกินกว่าที่ควร นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ทารกแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดอีกด้วย โดยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกตัวโต คลอดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด ซึ่งหากมารดามีน้ำหนักขึ้นที่พอดี หลังคลอดหากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ น้ำหนักของมารดาจะลดลงเร็ว และมีน้ำหนักเท่ากับก่อนการตั้งครรภ์ในระยะเวลา 3-6 เดือนหลังคลอด ไม่ต้องมาทุกข์ระทม หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปหลังคลอด ดังนั้น หากมารดาต้องการลดน้ำหนัก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดน้ำหนักอยู่แล้ว1 การควบคุมอาหารและออกกำลังกายในระหว่างการให้นมลูกสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการควบคุมอาหารมากจนเกินไปจนร่างกายมารดาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจมีผลต่อสารอาหารในนมแม่ในระยะยาวได้ การลดน้ำหนักในมารดาหลังคลอด แนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และดูแลลูกด้วยตนเองก่อน ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแต่พอดี จะทำให้มารดายังสามารถคงการให้นมแม่ได้ มีรูปร่างที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง
เอกสารอ้างอิง
- ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.