รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? กลไกการหลั่งน้ำนม (let-down reflex) หรืออาจเรียกว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) เกิดจากกลไกหลักคือฮอร์โมนออกซิโตซินที่ถูกกระตุ้นจากการดูดนมของทารก หรือจากการสั่งงานของสมองเมื่อมารดาคิดถึงลูก หรือสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้คิดถึงลูก ฮอร์โมนออกซิโตซินสร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่อาจมีปัจจัยที่รบกวนการทำงานของสมองส่วนนี้ได้จาก ความเครียด ความวิตกกังวล ความอาย อุณหภูมิหรืออากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศเย็น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิด ดังนั้น หากมีภาวะดังกล่าวน้ำนมมารดาอาจไหลไม่ดี ส่งผลให้ทารกกินนมได้น้อยและงอแง วัฒนธรรมของไทยยังเห็นว่า เรื่องการให้นมนี้เป็นเรื่องส่วนตัว มารดาควรให้นมลูกที่บ้านในที่มิดชิด หากออกนอกบ้านต้องใช้นมผง ไม่กล้าที่จะให้นมลูกในที่สาธารณะหรือเขินอาย ขณะเดียวกันกับสังคมในยุคใหม่ มารดาต้องออกนอกบ้านหรือทำงาน สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การมีมุมนมแม่ที่จะให้มารดาสามารถให้นมลูกตามที่สาธารณะเป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ยอมรับการให้นมลูกเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถให้ได้ทุกที่ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะต้องใช้เวลา แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ควรสร้างให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้