ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน

 

โอ๊ย…ปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือน เป็นอาการที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสตรีในทุกรอบเดือน บางครั้งอาการเป็นมากจนปฏิบัติงานไม่ได้ ต้องหยุดงาน สร้างความวิตกกังวลตลอดเมื่อถึงรอบการมีประจำเดือน การปวดประจำเดือนนั้นมีหลายสาเหตุ มาเรียนรู้ในเรื่องนี้กันดีกว่า

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการมีประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ประจำเดือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายสตรี โดยการสั่งการจากสมองมากระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ซึ่งจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไปกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไข่ตกแล้วไม่ได้รับการผสมหรือปฏิสนธิ การสร้างฮอร์โมนจะต่ำลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะขาดการกระตุ้น ขาดเลือดไปเลี้ยง ฝ่อ ตาย และหลุดออกมาพร้อมกันกับมีเลือดที่อยู่ในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนด้วย ในขณะที่มีการขาดเลือดของเยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมทั้งการที่มีเลือดขังอยู่ในโพรงมดลูกนั้น จะมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกเพื่อขับไล่เลือดออกมา การบีบตัวของตัวมดลูกจะทำให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อย ซึ่งจะเป็นอาการปวดประจำเดือน

การปวดประจำเดือนในภาวะปกติ อาการจะมีไม่มาก มักเป็นในวันแรกและวันที่สองของการมีประจำเดือน ส่วนใหญ่มากหายเอง ความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดมีน้อย และมักไม่รบกวนการทำงานหรือการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน

อาการปวดประจำเดือนอาจเกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่

– ?การอักเสบในอุ้งเชิงกราน

– ?การมีเนื้องอกมดลูก

– ?เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

– ?มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกหรือกล้ามเนื้อมดลูก

– ?การแท้ง

– ?การท้องนอกมดลูก

การปวดประจำเดือนจากสาเหตุเหล่านี้ สังเกตได้จากมักมีอาการปวดประจำเดือนมาก ต้องใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการ มักเป็นอยู่หลายวัน และอาจพบมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือผิดปกติร่วมด้วย การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้แพทย์เป็นผู้ตรวจสอบ โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวด อาการร่วม ได้แก่ การมีไข้ การเคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีปัสสาวะบ่อย แสบขัด หรือเป็นหนอง ตกขาวผิดปกติมีกลิ่นเหม็น การคลำก้อนได้ที่ท้องน้อย การมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ การมีประจำเดือนมามากหรือผิดปกติ การขาดหรือไม่สม่ำเสมอของประจำเดือน อาการคลื่นไส้อาเจียน โดยเมื่อได้ข้อมูลจากประวัติแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจหน้าท้องและตรวจภายใน การตรวจจะช่วงให้ได้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นการปวดประจำเดือนลักษณะปกติหรือเป็นโรคใด หากข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจน การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการวางแผนการรักษาด้วย แผนการรักษามีตั้งแต่การติดตาม การใช้ยาบรรเทาหรือรักษาอาการ และการผ่าตัด ซึ่งการเลือกวิธีการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรค อายุ ความต้องการมีบุตร แพทย์จะให้คำปรึกษาเรื่องโรคและวิธีการรักษาโดยร่วมกันวางแผนการรักษากับผู้ป่วยและครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดประจำเดือนมักต้องการการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน

ในสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนหากอายุมากใกล้หมดประจำเดือนและสาเหตุของการปวดประจำเดือนไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง การรักษาด้วยยาบรรเทาอาการและนัดติดตามการรักษาเป็นระยะๆ จนกระทั่งหมดประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนก็จะหมดไป จะเห็นว่าการปวดประจำเดือนนี้ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงการมีประจำเดือนราว 40 ปี กว่าจะหมดประจำเดือนโดยส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน จึงเป็นสิ่งที่สตรีควรใส่ใจ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง และปรึกษาแพทย์หากสงสัยความผิดปกติของอาการปวดประจำเดือน

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์