นมแม่ช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะแทรกซ้อนของมารดาที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและระบบฮอร์โมนในระยะหลังคลอด ได้แก่ ร่างกายมารดาที่เคยเต่งตึงกลับมีหน้าท้องที่หย่อนยาน สีผิวหนังที่มีความเข้มขึ้นทั้งบริเวณหัวนมและหน้าท้อง อาจมีหน้าท้องลายในมารดาบางคน การที่ต้องดูแลทารกตลอดเวลา ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างมากในช่วงหลังคลอด ร่วมกับมีการหลั่งเมลาโทนินที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับจากการกระตุ้นของออกซิโตซิน ซึ่งหากเมลาโทนินมีระดับที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้  การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่สามารถลดการเกิดการซึมเศร้าหลังคลอด โดยมีการศึกษาพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ในช่วงสามเดือนหลังคลอด1 ความชุกของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดพบในมารดาที่ให้นมแม่ร้อยละ 2.5 ขณะที่พบร้อยละ 19.4 ในมารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 และยังพบความสัมพันธ์ผกผันระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย นั่นคือในมารดาที่พบภาวะซึมเศร้าจะส่งผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงได้3

เอกสารอ้างอิง

  1. Figueiredo B, Canario C, Field T. Breastfeeding is negatively affected by prenatal depression and reduces postpartum depression. Psychol Med 2014;44:927-36.
  2. Tashakori A, Behbahani AZ, Irani RD. Comparison Of Prevalence Of Postpartum Depression Symptoms Between Breastfeeding Mothers And Non-breastfeeding Mothers. Iran J Psychiatry 2012;7:61-5.
  3. Webber E, Benedict J. Postpartum depression: A multi-disciplinary approach to screening, management and breastfeeding support. Arch Psychiatr Nurs 2019;33:284-9.