รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ท็อกโซพลาสโมซีส (Toxoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma Gondii ซึ่งแมวถือเป็นพาหะนำโรคชนิดนี้ โดยแมวที่มีการติดเชื้ออยู่จะถ่ายอุจจาระที่มีเชื้อปนเปื้อนมา หากสตรีตั้งครรภ์ดูแลเรื่องความสะอาดไม่ได้ดี มีการปนเปื้อนเชื้อโดยการรับประทานเข้าไป เชื้อจะเข้าไปอยู่ในมารดาที่ตั้งครรภ์โดยอันตรายเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากการที่สตรีตั้งครรภ์จะติดเชื้อแล้วคือ การผ่านของเชื้อเข้าสู่ทารกและเกิดการติดเชื้อ ทารกที่ติดเชื้อจะมีอาการจอประสาทตาอักเสบ (chorioretinitis) การมีน้ำในสมองมาก (hydrocephalus) ซึ่งทำให้ทารกอาจมีศีรษะโตผิดปกติได้ มีอาการชัก และอาจพบทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อท็อกโซพลาสโมซีสที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย มีความไวและความจำเพาะสูงร้อยละ 100 และทราบผลทันที1 สำหรับข้อแนะนำในการตรวจคัดกรอง ควรตรวจในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงคือเลี้ยงแมวและมีความใกล้ชิด จำนวนครั้งของการตรวจคัดกรองในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน แต่บางรายงานแนะนำให้ตรวจ 8-10 ครั้ง1 เนื่องจากหากพบการติดเชื้อ การรักษาตั้งแต่แรกเริ่มจะลดอันตรายที่จะเกิดกับทารก ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจที่จะซักถามถึงการเลี้ยงแมวในมารดาที่มาฝากครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงและความจำเป็นในการตรวจคัดกรองเชื้อนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Lykins J, Li X, Levigne P, et al. Rapid, inexpensive, fingerstick, whole-blood, sensitive, specific, point-of-care test for anti-Toxoplasma antibodies. PLoS Negl Trop Dis 2018;12:e0006536.