ทำไมมารดาที่อ้วนจึงมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่า

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจากการประเมินดัชนีมวลกายโดยใช้น้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ในการคิดคำนวณ จะพบว่ามารดามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอดสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก้ เบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดตัวโต การคลอดยาก การใช้หัตถการในการช่วยคลอด การผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด และการมาของน้ำนมช้า ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายของมารดาทางสรีรวิทยาและทำให้มีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้า ซึ่งจะมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่แตกต่างกันของมารดาที่อ้วนเมื่อเปรียบเทียบกับมารดาที่มีน้ำหนักปกติ โดยที่ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีความจำเพาะสำหรับช่วยเหลือมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนในแต่ละภาวะอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ในมารดาที่ผ่าตัดคลอด หากมีการช่วยให้มารดาได้มีการโอบกอดทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดและมีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอดจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในขณะที่การให้การดูแลมารดาและทารกที่เป็นขั้นตอนการดูแลตามปกติไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1                       

เอกสารอ้างอิง

1.        Marshall NE, Lallande LF, Schedin PJ, Thornburg KL, Purnell JQ. Exclusive Breastfeeding Rates at 6 Weeks Postpartum as a Function of Preconception Body Mass Index Are Not Impacted by Postpartum Obstetrical Practices or Routines. Breastfeed Med 2020.