รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อต้องการการปฏิบัติเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจาก ในชั่วโมงแรกหลังการเกิด ทารกจะมีพัฒนาการจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยต้องมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติเป็นลำดับใน 9 ขั้นตอน1 ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 ร้องไห้ขณะเกิด (birth cry) ทารกจะร้องไห้เมื่อแรกคลอด ซึ่งทำให้เกิดการขยายและนำอากาศเข้าสู่ปอด
- ขั้นตอนที่ 2 ผ่อนคลาย (relaxation) หลังทารกหยุดร้องไห้ ทารกจะผ่อนคลาย ไม่มีขยับแขนขาหรือขยับปาก จะสังเกตเห็นทารกสงบนิ่งอยู่บนอกมารดา
- ขั้นตอนที่ 3 ตื่นตัว (awakening) เมื่อถึงระยะนี้ ทารกจะมีการขยับศีรษะและไหล่ โดยทารกจะเข้าสู่ระยะนี้ราว 3 นาทีหลังจากเกิด อาจสังเกตเห็นทารกลืมตา ขยับปาก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะและหัวไหล่
- ขั้นตอนที่ 4 ขยับหรือเคลื่อนไหว (activity) ทารกจะมีการขยับปากหรือแสดงลักษณะของการดูดชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากมีการสัมผัสบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก ทารกจะหันเข้าหาและแสดงอาการดูดให้เห็น (rooting reflex) ระยะนี้จะเริ่มราว 8 นาทีหลังการเกิด
- ขั้นตอนที่ 5 พัก (resting) เป็นระยะที่ทารกจะหยุดหรือพักจากการขยับหรือเคลื่อนไหว ซึ่งระยะพักจะพบสลับกับการที่ทารกขยับ ดูด หรือเคลื่อนไหวได้ตลอดช่วงที่ทารกอยู่บนอกมารดา
- ขั้นตอนที่ 6 คืบคลาน (crawling) ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปหาเต้านมและหัวนม ระยะนี้จะเริ่มราว 35 นาทีหลังการเกิด
- ขั้นตอนที่ 7 คุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม (familiarization) ทารกจะเริ่มมีการสัมผัส เลีย หรืออมหัวนม ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณให้เต้านมมารดามีความพร้อมที่จะหลั่งน้ำนม ระยะนี้จะเริ่มราว 45 นาทีหลังการเกิด และทารกจะอยู่ในระยะนี้ราว 20 นาทีหรือมากกว่านั้น
- ขั้นตอนที่ 8 ดูดนม (suckling) ระยะนี้ทารกจะเริ่มประกบปาก อมหัวนมและลานนม พร้อมกับดูดนม โดยจะเริ่มราว 1 ชั่วโมงหลังการเกิด แต่ในมารดาที่ได้รับการให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับความรู้สึก อาจส่งผลให้ระยะนี้เกิดช้าลงได้
- ขั้นตอนที่ 9 หลับ (sleep) หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ ทารกจะง่วงหลับ ซึ่งจะพบทารกง่วงหลับราว 1 ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงหลังการเกิด
จะเห็นว่า การที่ทารกจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 8 คือการดูดนมนั้น ทารกต้องใช้เวลาปรับตัวราว 1 ชั่วโมง จึงจะถึงกระบวนการในขั้นตอนที่จะมีความพร้อมในการดูดนม บางคนจึงถือว่าช่วงเวลาในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเรียกเวลาในช่วงนี้ว่า “ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ (sacred hour)” ที่ไม่ควรมีกระบวนการอื่นใดมีรบกวน หากถูกรบกวน จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาที่นานขึ้น มีผลทำให้การเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดขึ้นช้าลง นอกจากนี้ การให้ความสำคัญแก่ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ในชั่วโมงแรกหลังคลอดยังมีประโยชน์ต่อมารดา โดยสามารถช่วยลดโดยสามารถช่วยลดการปวดแผลระหว่างการเย็บแผลที่เกิดจากการคลอด2 และลดการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดาจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการคลอดบุตรได้1
เอกสารอ้างอิง
- Abdollahpour S, Bolbolhaghighi N, Khosravi A. Effect of the Sacred Hour on Postnatal Depression in Traumatic Childbirth: a Randomized Controlled Trial. J Caring Sci 2019;8:69-74.
- Mbalinda S, Hjelmstedt A, Nissen E, Odongkara BM, Waiswa P, Svensson K. Experience of perceived barriers and enablers of safe uninterrupted skin-to-skin contact during the first hour after birth in Uganda. Midwifery 2018;67:95-102.