ทารกที่ผ่าตัดคลอดมักเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ในกระบวนการการผ่าตัดคลอด บุคลากรทางการแพทย์มักจะวิตกกังวลในการให้การดูแลมารดาและทารกมากกว่าการคลอดปกติ เนื่องจากโอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดคลอดนั้นสูงกว่า ทำให้โอกาสที่ทารกจะได้อยู่ใกล้ชิดกับมารดาตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดน้อยลง ทารกมักถูกแยกจากมารดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาที่ต้องดมยาสลบด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งหลังการผ่าตัดมารดาอาจยังรู้สึกตัวไม่ดี การเริ่มกระตุ้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการให้ทารกได้เริ่มดูดนมจะทำได้ช้า ซึ่งเป็นผลทำให้การกระตุ้นสายสัมพันธ์ของมารดาและทารกเริ่มได้ช้าไปด้วย การมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเริ่มต้นที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์จะมีส่วนที่จะช่วยในการวางแผนกระบวนช่วยเหลือให้การเริ่มต้นสายสัมพันธ์ทำได้แม้มารดาผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาเข้าไขสันหลัง มารดาจะรู้ตัวดี การให้มารดาโอบกอดทารกตั้งแต่ในระยะแรกสามารถทำได้เหมือนมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาต้องใส่ท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ ทางเลือกอาจทำการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของทารกบนอกมารดาภายใต้การเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด หรืออาจใช้ทางเลือกโดยให้บิดามีส่วนร่วม ช่วยดูแล หรือช่วยโอบกอดเนื้อแนบเนื้อก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และช่วยกระตุ้นสายสัมพันธ์เช่นกัน