รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาบังเอิญเจ็บป่วยในระหว่างที่ให้นมลูก ต้องหยุดให้นมลูกหรือไม่ คำถามนี้หากจะตอบให้ละเอียดต้องดูว่ามารดาป่วยเป็นอะไร โดยปกติหากมารดาไม่มีโรคประจำตัว โรคที่มักเจ็บป่วยก็มักจะเป็นหวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย เสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แสบร้อนท้อง หรือมีอาการของโรคกระเพาะ โรคที่พบบ่อยเหล่านี้ โชคดีที่วิธีการรักษาของโรครวมทั้งการรักษาด้วยยา ไม่มีผลเสียทารกที่กินนมแม่1 ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดการให้นมลูก อย่างไรก็ตาม หากมารดาจำเป็นต้องใช้ยา อาจจะจากร้านขายยา หรือได้รับยาจากคลินิกหรือโรงพยาบาล มารดาควรแจ้งแก่เภสัชกรหรือแพทย์ว่า ตนเองให้นมบุตรอยู่ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล มีความระมัดระวังในเรื่องการใช้ยายิ่งขึ้น และแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสม หากมารดาต้องเว้นระยะการให้นมลูกเป็นเวลานานแค่ไหนในโรคบางโรค และต้องมีการติดตามระมัดระวังอะไรบ้างในทารก เช่น การที่มารดาเป็นวัณโรคปอด การให้การรักษามารดาให้พ้นจากระยะที่จะมีการติดต่อ หรือแพร่เชื้อได้ และมารดามีการใช้ยาอะไรบ้าง มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามดูอาการหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดต่อในทารก เมื่อเป็นเช่นนี้ ในกรณีที่มารดามีความเจ็บป่วยที่จำเพาะ ไม่ใช่โรคที่เจ็บป่วยกันบ่อย ๆ ทั่วไป การรับข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์มีความจำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.