รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ชั่วโมงแรกหลังการเกิด ทารกจะมีพัฒนาการจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก การที่ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อจะส่งผลดีในระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจของทารก เมื่อมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด จะพบทารกมีการเปลี่ยนแปลงตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติเป็นลำดับใน 9 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ร้องไห้ขณะเกิด (the birth cry) ทารกจะร้องไห้เมื่อแรกคลอด ซึ่งทำให้เกิดการขยายและนำอากาศเข้าสู่ปอด
ระยะที่ 2 ผ่อนคลาย (relaxation) หลังทารกหยุดร้องไห้ ทารกจะผ่อนคลาย ไม่มีขยับแขนขาหรือขยับปาก จะสังเกตเห็นทารกสงบนิ่งอยู่บนอกมารดา
ระยะที่ 3 ตื่นตัว (awakening) เมื่อถึงระยะนี้ ทารกจะมีการขยับศีรษะและไหล่ โดยทารกจะเข้าสู่ระยะนี้ราว 3 นาทีหลังจากเกิด อาจสังเกตเห็นทารกลืมตา ขยับปาก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะและหัวไหล่
ระยะที่ 4 ขยับหรือเคลื่อนไหว (activity) ทารกจะมีการขยับปากหรือแสดงลักษณะของการดูดชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากมีการสัมผัสบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก ทารกจะหันเข้าหาและแสดงอาการดูดให้เห็น (rooting reflex) ระยะนี้จะเริ่มราว 8 นาทีหลังการเกิด
ระยะที่ 5 พัก (rest) เป็นระยะที่ทารกจะหยุดหรือพักจากการขยับหรือเคลื่อนไหว ซึ่งระยะพักจะพบสลับกับการที่ทารกขยับ ดูด หรือเคลื่อนไหวได้ตลอดช่วงที่ทารกอยู่บนอกมารดา
ระยะที่ 6 คืบคลาน (crawling) ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปหาเต้านมและหัวนม ระยะนี้จะเริ่มราว 35 นาทีหลังการเกิด
ระยะที่ 7 คุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม ทารกจะเริ่มมีการสัมผัส เลีย หรืออมหัวนม ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณให้เต้านมมารดามีความพร้อมที่จะหลั่งน้ำนม ระยะนี้จะเริ่มราว 45 นาทีหลังการเกิด และทารกจะอยู่ในระยะนี้ราว 20 นาทีหรือมากกว่านั้น
ระยะที่ 8 ดูดนม ระยะนี้ทารกจะเริ่มประกบปาก อมหัวนมและลานนม พร้อมกับดูดนม โดยจะเริ่มราว 1 ชั่วโมงหลังการเกิด แต่ในมารดาที่ได้รับการให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับความรู้สึก อาจส่งผลให้ระยะนี้เกิดช้าลงได้
ระยะที่ 9 หลับ หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ ทารกจะง่วงหลับ ซึ่งจะพบทารกง่วงหลับราว 1ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงหลังการเกิด
เอกสารอ้างอิง
- Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.