งานวิจัยที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 (12)

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การพัฒนาระบบการวินิจฉัยและรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้น (Development of tongue tie care team)โดยเยาวเรศ กิตติธเนศวร และวันเพ็ญ กวยาวงศ์ คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลอ่างทอง เป็นวิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลให้การวินิจฉัยและรักษาทารกที่มีภาวะพังผืดใต้ลิ้น โดยมีทีมที่ร่วมดูแลเริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ห้องคลอดประเมินภาวะพังผืดใต้ลิ้นก่อนย้ายทารกแรกคลอดทุกราย และบันทึกลงในแบบประเมินภาวะพังผืดใต้ลิ้นและการให้นมมารดา และส่งต่อข้อมูลให้กับหอผู้ป่วยหลังคลอด เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยหลังคลอดทำการประเมินภาวะพังผืดใต้ลิ้นซ้ำ และประเมินลักษณะหัวนมมารดาหลังทารกดูดนม และบันทึกลงในแบบประเมินภาวะพังผืดใต้ลิ้นและการให้นมมารดา จากนั้นให้การช่วยเหลือ โดยแก้ไขหัวนม ช่วยเหลือให้มารดามีท่าอุ้มที่ถูกต้อง ให้ทารกอมหัวนมได้ถูกต้อง หากยังมีปัญหาดูดนมแม่ได้ไม่มีประสิทธิภาพจากการประเมินโดยใช้ ?Siriraj Tongue Tie Score (STT score) ?ซึ่งทารกที่มี STT score ต่ำกว่า 8 แนะนำให้มารดาและครอบครัวว่าทารกควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนผู้ที่มีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 8 ควรรักษาแบบประคับประคองก่อน หากไม่ดีขึ้นจึงเสนอทางเลือกโดยการผ่าตัดขลิบพังผืดใต้ลิ้น (frenulotomy) สูติแพทย์เป็นผู้ทำผ่าตัด frenulotomy สังเกตอาการและให้การดูแลหลังผ่าตัดโดยเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยร่วมกับมารดา ตรวจติดตามดูลักษณะแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ประสิทธิภาพในการดูดนมของทารก โดยคลินิกนมแม่ หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์ จากการประเมินภาวะพังผืดใต้ลิ้นในทารกจำนวน 5293 ราย พบทารกมีภาวะพังผืดใต้ลิ้น ร้อยละ 46.16 จำแนกเป็นความรุนแรงของภาวะพังผืดใต้ลิ้นระดับเล็กน้อยร้อยละ 40.92 ระดับปานกลางร้อยละ 50.50 และระดับมากร้อยละ 9.42? และพบทารกที่มีภาวะพังผืดใต้ลิ้นมี STT score <8 ร้อยละ 50.31 ของทารกมีภาวะพังผืดใต้ลิ้น ทำผ่าตัด frenulotomy โดยสูติแพทย์ไปแล้วทั้งสิ้น 1076 ราย อัตราความพึงพอใจของมารดาหลังทำผ่าตัดมีคะแนนเฉลี่ย 4.75 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ทำผ่าตัด frenulotomy เฉลี่ยร้อยละ 98.52 และ 70.94 เมื่อติดตามหลังคลอด 7 วัน และ 6 เดือนตามลำดับ สรุปการพัฒนาทีมดูแลให้การวินิจฉัยและรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้นทำให้มารดาหลังได้รับการดูแลมีความพึงพอใจสูงและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหกเดือนสูง

ที่มาจาก โปสเตอร์และหนังสือประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์