การได้ลาพักหลังคลอดหกเดือนช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การที่มารดาได้ลาพักหลังคลอด มารดาจะมีโอกาสได้อยู่ดูแลทารกและสามารถให้นมทารกได้อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาว่า มารดาที่ลาพักหลังคลอดได้นานจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1 ในประเทศไทยการลาพักหลังคลอดเป็นสิทธิของข้าราชการและพนักงานของรัฐ มารดาจะลาคลอดได้ 90 วันหรือสามเดือนโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน สำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิประกันสังคมลาพักหลังคลอดได้ 98 วันรวมวันหยุด โดยในระหว่างการลาพักหลังคลอด 45 วันแรกจะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนจากนายจ้าง แต่หลังจากนั้น หากลาต่ออีก จะได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน (โดยคิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15000 บาท) อีก 45 วัน ซึ่งหลังสามเดือนเมื่อมารดาต้องกลับไปทำงานจึงพบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2,3 แต่ในประเทศยุโรปบางประเทศ ได้แก่ ประเทศเดนมาร์กให้ลาคลอดได้หนึ่งปีโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน  ประเทศสวีเดนและนอร์เวย์จะเปิดโอกาสให้มารดาลาพักหลังคลอดถึงหนึ่งปีครึ่งหรือมากกว่านั้นเพื่อเลี้ยงดูทารกโดยมารดายังได้รับเงินเดือนโดยรวมราวร้อยละ 77-86 ต่อปี สำหรับในเอเชีย ประเทศเวียดนามออกกฎหมายให้สตรีลาพักหลังคลอดได้ถึงหกเดือน ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Skafida V. Juggling work and motherhood: the impact of employment and maternity leave on breastfeeding duration: a survival analysis on Growing Up in Scotland data. Matern Child Health J 2012;16:519-27.
  2. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.
  3. Plewma P. Prevalence and factors influencing exclusive breast-feeding in Rajavithi Hospital. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 3:S94-9.