การให้นมแม่ไม่เพียงแค่ให้แต่เรื่องของน้ำนมเท่านั้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในกระบวนการของการให้นมลูกหลังคลอดนั้น หากพิจารณาตามกลไกของสรีรวิทยาจะมีการกระตุ้นให้มารดาหลั่งน้ำนมออกมาโดยกระบวนการการดูดนมของทารก ซึ่งกลไกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมารดานั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนออกซิโทซินที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธารามัสที่จะรับรู้หรือมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานได้จากอารมณ์และความรู้สึกของมารดา ดังนั้น การที่กระบวนการการให้นมลูกจะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม มารดาจำเป็นจะต้องมีอารมณ์และความรู้สึกที่เหมาะสมด้วย ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของทฤษฎีทวินิยม (Cartesian dualism)1 ที่มองว่ากายกับจิตนั้นแยกกันอย่างเด็ดขาด เป็นอิสระต่อกัน แต่จะมีปฏิสัมพันธ์กันได้ (คือสาเหตุของกายจะมีอิทธิพลต่อสาเหตุของจิต และสาเหตุของจิตจะมีอิทธิพลต่อกาย) การที่มารดาจะสามารถให้นมลูกได้นั้นจึงควรมีความสมบูรณ์ของทั้งกายและจิต ส่วนผลของจิตของมารดาจะมีความสัมพันธ์กับจิตของทารกหรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมองถึงกระบวนการพื้นฐานในการให้นมลูก มารดาต้องโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จ้องมอง แสดงความรู้สึกและสื่อสารกับทารกขณะที่ให้ลูกกินนมแม่สามารถช่วยทารกแรกเกิดที่ป่วยที่หอทารกป่วยวิกฤตให้ฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนถึงปฏิกิริยาที่กายและจิตของมารดามีผลกระทบหรือความสัมพันธ์ต่อกายและจิตของทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. van Wijlen JE. Breastfeeding woman or lactating object? A critical philosophical discussion on the influence of Cartesian dualism on breastfeeding in the neonatal intensive care unit. J Clin Nurs 2018.