การใช้สารเสพติดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

พญ.ริชาพรรณ ชูแกล้ว

? ? ? ? ? ? ? ?ปัญหาการใช้สารเสพติดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสารเสพติดมีทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย สารเสพติดที่ถูกกฎหมาย ได้แก่ สุรา และบุหรี่ สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ อนุพันธ์ฝิ่น สารกระตุ้น และกัญชา ข้อแนะนำสำหรับมารดาที่ใช้สารเสพติดนั้นคือ การละเว้นหรืองดการใช้สารเสพติดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์รวมถึงระหว่างการให้นมบุตร แต่ในสตรีบางรายที่ยังคงมีการใช้สารเสพติดอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้ว จะมีความวิตกกังวลว่าจะสามารถให้นมลูกได้หรือไม่ และส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำให้งดการให้นมบุตร ซึ่งข้อมูลและหลักฐานในเชิงประจักษ์สำหรับการใช้สารเสพติด การผ่านของสารเสพติดเข้าสู่น้ำนม และอันตรายที่จะเกิดกับทารกยังขาดข้อมูลและความชัดเจน เนื่องจากในงานวิจัยที่ศึกษามักมีตัวแปรของการใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ และโรคอื่น ๆ ของมารดาที่ใช้สารเสพติด นอกจากนี้ความเสี่ยงยังขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และช่วงระยะเวลาห่างจากการใช้สารเสพติดกับการที่ทารกกินนมแม่ ดังนั้น การให้คำแนะนำในการจะตัดสินใจเลือกให้ทารกกินนมแม่หรือใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ควรพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการกินนมแม่เทียบกับความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดกับทารกที่จะได้รับสารเสพติด ตัวอย่างข้อแนะนำในการใช้สารเสพติดในระหว่างการให้นมบุตร ได้แก่

  • สารเสพติดจำพวกอนุพันธ์ฝิ่น ได้แก่ เฮโลอีน มารดาควรได้รับการรักษาระหว่างการตั้งครรภ์โดยใช้ยาเมธาโดน (methadone) ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานว่าปลอดภัยและคุ้มค่าในการที่จะเลือกให้นมแม่
  • กัญชา จะมีผลต่อระบบประสาท หากทารกได้รับในระหว่างที่มีการพัฒนาของระบบประสาทของทารก แต่ในระหว่างการให้นมบุตรนั้น กัญชาจะมีผลทำให้มารดาง่วงซึมและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูแลทารกมากกว่าอันตรายที่จะเกิดกับทารกโดยตรง
  • แอลกอฮอล์ ระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจะใกล้เคียงกับในน้ำนม แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างให้นมบุตร แต่หากมารดาได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน (ปริมาณใกล้เคียงกับการกินเบียร์ 2 กระป๋อง) ควรเว้นระยะห่างจากการให้นม 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ออกไป ซึ่งพบว่า ทารกที่กินนมแม่หลังการเว้นระยะการให้นมบุตร ไม่พบว่ามีอันตรายหรือความเสี่ยงใด ๆ ที่เกิดแก่ทารก
  • บุหรี่ ในมารดาที่สูบบุหรี่ ควรเปลี่ยนไปใช้ยาที่ใช้ในการรักษาการติดบุหรี่ ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัยเมื่อใช้ในระหว่างการให้นมบุตร
  • สารกระตุ้น เช่น ยาบ้า ควรเว้นช่วงการให้นมบุตรอย่างน้อย 24 ชั่วโมงจากการใช้ครั้งสุดท้าย เนื่องจากยาจะอยู่ในร่างกายมารดาได้นานกว่า อย่างไรก็ตาม การเว้นระยะของการให้นมบุตรนั้นยังขึ้นอยู่กับปริมาณสารเสพติดที่ได้รับด้วย

ที่มาจาก การบรรยายและหนังสือประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์