การใช้ยากระตุ้นน้ำนม: Domperidone จำเป็นหรือไม่และกรณีศึกษาจากโรงพยาบาลนครพิงค์

วิทยากร รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ และทีมโรงพยาบาลนครพิงค์

????????? ก่อนอื่นต้องมีการทบทวนความรู้พื้นฐานของการสร้างน้ำนม ซึ่งระยะของการสร้างน้ำนมมี 3 ระยะที่สำคัญ โดยกลไกการกระตุ้นการสร้างน้ำนมที่สำคัญในระยะที่สาม คือ การให้ทารกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า สำหรับฮอร์โมนโปรแลคตินที่ช่วยในการสร้างน้ำนมในระยะหลังคลอด 7 วัน หากมารดายังคงให้นมบุตรอยู่ ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินจะยังสูงอยู่เกินกว่าค่าปกติในสตรี ดังนั้น ยา domperidone ซึ่งออกฤทธิ์ผ่านกลไกการกระตุ้นการเพิ่มของระดับฮอร์โมนโปรแลคตินจึงไม่เกิดประโยชน์ในการใช้ยาในระยะนี้ นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนปัจจัยสาเหตุที่ทำให้น้ำนมไม่พอจากสาเหตุอื่นพบได้บ่อยกว่า ได้แก่ การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า การเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม และการให้ลูกกระตุ้นดูดนมน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนเสมอ โดยการเริ่มใช้ยา domperidone ขนาดที่แนะนำคือ 10 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง ควรระมัดระวังในมารดาที่มีโรคหัวใจหรือโรคตับ และได้มีการแนะนำถึง galactogogue อื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มฮอร์โมน คือ Somatotropine, Cortisol, Insulin, Leptin, Estrogen, progesterone และ medroxyprogesterone, Oxytocin, Recombinant bovine somatotropin (rBST) และ? Thyrotropin releasing hormone (TRH) กลุ่มยา คือ Metoclopramide, Chlorpromazine และ Sulpiride กลุ่มพืชและสมุนไพร คือ Fenugreek (Trigonella graecum foecum), Fennel (Foeniculum vulgare), Goat?s rue (Galega offinalis), Asparagus (Asparagus racemosus), Anise (Pimpinella anisum), Milk thistle (Silybum marianum) และ Ginger (the root of Zingiber officinale) อธิบายถึงกลไกในการออกฤทธิ์ แต่ข้อมูลยังมีจำกัด

????????? โรงพยาบาลนครพิงค์ได้พูดถึงประสบการณ์ในการดูแลเรื่องการใช้ยากระตุ้นน้ำนมในระยะแรกหลังคลอด โดยอธิบายกลไกของการทำงานร่วมกันของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร มีการโทรศัพท์กลับถึงแพทย์ผู้สั่งยา สอบถามและอภิปรายถึงความจำเป็นในการใช้ยา นอกจากนี้ ยังมีการทำแผ่นโปสเตอร์ให้ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกันรวมทั้งแพทย์ใช้ทุน เพื่ออธิบายข้อบ่งใช้ยากระตุ้นน้ำนมที่เหมาะสม จนในปัจจุบันไม่พบการใช้ยา domperidone กระตุ้นน้ำนมในมารดาระยะแรกหลังคลอดเลย

ที่มาจาก การประชุมเรื่องการใช้ยากระตุ้นน้ำนม: Domperidone จำเป็นหรือไม่และกรณีศึกษาจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ในการประชุมเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2560