การใช้ข้อมูลเฉลี่ยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจมองข้ามปัญหาที่มีในรายพื้นที่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการดำเนินงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมของประเทศและในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการจะวางแผนดำเนินงานปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ข้อมูลของประเทศจะเป็นค่าเฉลี่ยจากพื้นที่ที่มีความหลากหลายในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล และแต่ละหมู่บ้าน ดังนั้น การวางแผนแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคย่อมมีลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนที่แตกต่างกัน การใช้ข้อมูลจากค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศมาใช้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับข้อมูลหรือปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ อาจมีผลทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและผลลัพท์อาจไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้1 การรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องในแต่ละพื้นที่แล้วนำมาเป็นฐานในการดำเนินการวางแผนจึงควรมีก่อนการวางแผนปฏิบัติการ นั่นคือ ต้องมีการสร้างทัศนคติและแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ให้แก่บุคลากรเพื่อสร้างให้เกิดการปฏิบัติในการที่จะนำสิ่งทีปฏิบัติต่าง ๆ อยู่ในงานประจำมาจัดให้เป็นระบบของข้อมูลข่าวสารที่สามารถนำมาวิเคราะห์และแปลผลได้ การสร้างทัศนคติที่บริหารจัดการข้อมูลและความรู้ ยังเป็นรากฐานที่นำไปสู่การวิจัยหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0

เอกสารอ้างอิง

  1. Berkowitz SS. Another Look at WIC’s Breastfeeding Data: State Totals Reveal More Than Regional Averages. J Hum Lact 2019;35:37-41.