การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ทำไมจึงเพิ่มความรักความผูกพัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การที่ทารกได้สัมผัสกับอกของมารดาโดยเนื้อแนบเนื้อจากการโอบกอดจะช่วยเพิ่มความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก แล้วความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีคำอธิบายจากการที่ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาเนื้อแนบเนื้อจะกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ และมีผลต่อสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและฮอร์โมนหลายตัว ได้แก่ โอปิออยด์ (opiod) ที่จะมีผลต่อการหลั่งสารเอนโดรฟิน (endorphin) ที่จะทำให้มารดามีความสุข โปรแลคตินที่จะช่วยในการสร้างน้ำนม และออกซิโทซินที่จะช่วยส่งเสริมความรักและความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ความสัมพันธ์ของการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ จะเห็นได้จากขณะที่มารดาคิดถึงทารก จะรู้สึกมีความรักความผูกพัน และมีน้ำนมไหล มีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่มีผลต่อความรักความผูกพัน ได้จัดให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในช่วงระยะแรกหลังคลอดตั้งแต่ 15-60 นาที จากนั้นติดตามผลพบว่า มารดาจะจูบและหอมทารก และจ้องหน้าทารกที่ระยะสามเดือนหลังคลอดมากกว่า มารดาจะอุ้ม สัมผัส และพูดเรื่องราวดี ๆ กับทารกที่ระยะหนึ่งปีหลังคลอดมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามารดามาติดตามการนัดหมายมากกว่า และให้ลูกกินนมแม่นานขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.