การเจ็บหัวนมและเต้านมจากการใช้เครื่องปั๊มนม

 

S__38199478

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?เครื่องปั๊มนมได้รับการนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากค่านิยมที่ดูเหมือนว่าจะทำให้มารดามีความสะดวกโดยมีที่เครื่องปั๊มนมที่ปั๊มนมได้ทั้งสองข้างและชุดชั้นในที่จะช่วยพยุงหัวปั๊มที่ใช้ประกบกับเต้านม เพื่อให้มารดาสามารถทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ระหว่างการปั๊มนม อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องปั๊มนมจะเพิ่มความสะดวกให้แก่มารดา แต่ก็มีข้อจำกัดและต้องการใส่ใจกับการเลือกซื้อและการใช้เครื่องปั๊มนม โดยการเลือกซื้อขนาดของหัวปั๊มนมที่ใช้ประกบกับเต้านมจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมคือใหญ่กว่าขนาดหัวนมเล็กน้อยเพื่อให้หัวนมสามารถขยับเข้าและออกขณะที่ใช้งานเครื่องปั๊มนม และหากสามารถปรับแรงดูดขณะปั๊มนมได้จะทำให้ลดการเกิดการเจ็บของหัวนมและเต้านมขณะใช้งานเครื่องปั๊มนม มีการศึกษาถึงการบาดเจ็บของหัวนมขณะใช้เครื่องปั๊มนมพบว่า มีมารดาถึงร้อยละ 15 รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เครื่องปั๊มนม1 อย่างไรก็ดี เครื่องปั๊มนมที่มีขนาดให้เลือกและปรับแรงดูดขณะปั๊มนมได้ มักมีราคาแพง นอกจากนี้ การดูแลเครื่องปั๊มนมยังมีความจำเป็นต้องดูแลเรื่องความสะอาดตามมาตรฐานการใช้งาน เนื่องจากมีข้อต่อของสายยางต่างๆ ที่ใช้ในการดูดปั๊มนม ซึ่งมารดาต้องศึกษาจากคู่มือการใช้และดูแลเครื่องปั๊มนมของแต่ละบริษัทผู้ผลิต

? ? ? ? ? ?ทางเลือกพื้นฐานในการบีบเก็บน้ำนมที่มารดาจะได้รับการสอนจากบุคลากรทางการแพทย์หลังคลอดก่อนออกจากโรงพยาบาลคือ การบีบน้ำนมด้วยมือ ซึ่งไม่มีอุปกรณ์เสริมใดซับซ้อน ใช้เพียงแก้วหรือถ้วยที่เก็บน้ำนมที่มีใช้อยู่ทั่วไป ซึ่งไม่เสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของหัวนมและเต้านม น่าจะเหมาะสมกับการเลือกใช้งานในยุคเศรษฐกิจพอเพียงในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Qi Y, Zhang Y, Fein S, Wang C, Loyo-Berrios N. Maternal and breast pump factors associated with breast pump problems and injuries. J Hum Lact 2014;30:62-72; quiz 110-2.