การออกกำลังกายเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การออกกำลังกาย แนะนำให้มารดาออกกำลังกายระดับความหนักปานกลาง1-3 โดยวิธีการคำนวณทำได้จาก 2 วิธี ได้แก่

  • คำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งการออกกำลังกายระดับความหนักปานกลางจะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายเท่ากับร้อยละ 60-70 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (จากสูตรของ Karvonen อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะเท่ากับ 220-อายุ โดยหน่วยเป็นจำนวนครั้งต่อนาที)
  • คำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง (heart rate reserve) ซึ่งเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดลบด้วยอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก ซึ่งการออกกำลังกายระดับความหนักปานกลางจะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักบวกกับค่าระดับความหนักที่ร้อยละ 40-59 ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง หน่วยเป็นจำนวนครั้งต่อนาที
              ในทางปฏิบัติ อาจจะใช้วิธีง่าย ๆ ในการพิจารณาระดับความหนักปานกลางของการออกกำลังกาย คือ ขณะที่มารดาออกกำลังกาย ร่างกายจะรู้สึกล้า สามารถพูดเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ไม่สามารถร้องเพลงได้
             สำหรับลักษณะการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่เป็นการออกกำลังที่ไม่รุนแรงแต่มีความต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายจะมีการเผาพลาญพลังงานโดยใช้ออกซิเจน ได้แก่ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน กิจกรรมเข้าจังหวะ และการว่ายน้ำ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของมารดา โดยข้อควรระวังหากมารดาเลือกการว่ายน้ำ ควรเลือกการว่ายน้ำในน้ำตื้นที่มารดายืนถึง เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากมารดาอาจเกิดอาการตะคริวในขณะว่ายน้ำได้ ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม ควรมีความสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

เอกสารอ้างอิง

  1. Colberg SR, Sigal RJ, Yardley JE, et al. Physical Activity/Exercise and Diabetes: A Position Statement of the American Diabetes Association. Diabetes Care 2016;39:2065-79.
  2. Rognmo O, Moholdt T, Bakken H, et al. Cardiovascular risk of high- versus moderate-intensity aerobic exercise in coronary heart disease patients. Circulation 2012;126:1436-40.
  3. Camarda SR, Tebexreni AS, Pafaro CN, et al. Comparison of maximal heart rate using the prediction equations proposed by Karvonen and Tanaka. Arq Bras Cardiol 2008;91:311-4.