รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การพัฒนาคุณภาพของคนเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ การเจริญและพัฒนาการของสมองของมนุษย์จะมีมากในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ดังนั้นการบริหารจัดการให้ทารกได้สิ่งที่ได้ที่สุดที่จะสร้างสรรค์ให้มีการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายที่เหมาะสมและมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งต้องได้จากการกินนมแม่ การบริหารจัดการต่างๆ ควรมีส่วนเอื้อ สนับสนุน หรือส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
การสนับสนุนในเชิงนโยบาย ได้แก่
-รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายให้ ?เด็กไทยได้กินนมแม่จนถึงสองปี? โดยในช่วงหกเดือนแรกให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งหากมีนโยบายที่ชัดเจน การสื่อสารให้กับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ให้เข้าใจตรงกันและสื่อสารในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องจนสามารถสร้างกระแสหรือค่านิยมในสังคมได้
-รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเอื้อให้มารดาและครอบครัวได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด โดยในปัจจุบันมีการลาคลอดบุตรและการลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ซึ่งควรจะมีการสื่อสารในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลงไปในการลาให้ชัดเจน เช่น การลาคลอดบุตรและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจัดแยกการลาเป็นการลาคลอดบุตรซึ่งมีระยะเวลากำหนดไว้ โดยในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถลาเพิ่มเติมได้ และในการลาของสามี สามีลาไปช่วยเหลือภริยาคลอดบุตร และสามารถลาไปช่วยเหลือภริยาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การลาในมารดาที่ทำงานเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ? หรือลูกจ้างที่สามารถลาได้ในช่วง 45-60 วันโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ยังไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต้องการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ซึ่งปัญหาของการหยุดนมแม่ก่อนหกเดือนที่พบอันดับแรกคือ การกลับไปทำงานของมารดา นโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด ควรจะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน สำหรับการบริหารจัดการให้สามารถมีเงินเดือนจ่ายในช่วงลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจทำได้ในลักษณะของการออมเงินในลักษณะคล้ายประกันสังคม และเป็นสิทธิที่หากออกเป็นกฎหมายจะช่วยให้เป้าหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนดีขึ้น
-การออกกฎหมายหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (The International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes หรือ code) สิ่งนี้จะช่วยป้องกันการใช้ตลาดที่มีผลต่อมารดาและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจหยุดนมแม่หรือเลือกที่กินนมผสม1 ร่วมกับให้มีการติดตามควบคุมให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
-กำหนดตัวชี้วัดมาตรฐานของสถานพยาบาลทั่วประเทศเพื่อเรียนรู้ ติดตาม พัฒนาระบบข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศ โดยเอื้อให้มีการเผยแพร่และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อการพัฒนาศึกษาและวิจัย
-สนับสนุนการเปิดสถานฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้หรือเป็นที่ปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำหน่วยงานหรือโรงพยาบาล
-จัดทำโครงสร้างงานการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างบันไดอาชีพของบุคลากรในงาน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการรับรองภาระงานที่ชัดเจน ประเมินความก้าวหน้าในอาชีพได้ มีค่าตอบแทนเทียบเท่ากับกลุ่มชำนาญการที่มีความขาดแคลนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ได้พัฒนางานได้อย่างมีกำลังใจและมีศักดิ์ศรี
-สนับสนุนงบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ และตำแหน่งบุคลากรที่ดำเนินการในโครงสร้างงานที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
-สนับสนุนงบประมาณงานวิจัยที่พัฒนาความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
หนังสืออ้างอิง
- Sokol E, Clark D, Aguayo VM. Protecting breastfeeding in West and Central Africa: over 25 years of implementation of the International Code of Marketing of Breastmilk Substitutes. Food Nutr Bull 2008;29:159-62.