การป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ หากมีการวางแผนสำหรับการตั้งครรภ์ร่วมกันระหว่างมารดา ครอบครัว และแพทย์ผู้ดูแล จะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ลงได้ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมของมารดาให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมก่อนการตั้งครรภ์ แต่ในทางปฏิบัติ การดูแลอาจไม่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากมารดามักจะได้รับการดูแลโรคเบาหวานจากอายุรแพทย์ ขณะที่หากจะปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนการคุมกำเนิดมักได้รับการดูแลโดยสูติแพทย์ ทำให้ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ขาดความใส่ใจในการสอบถามมารดาถึงเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนคุมกำเนิดในระหว่างการรักษาโรคเบาหวาน จึงมักพบว่ามารดาที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มารดาจะเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการวางแผน เนื่องจากโอกาสของการตั้งครรภ์ของมารดาจะเพิ่มขึ้นหากมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี  ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจึงควรมีการเน้นย้ำในการดูแลสตรีที่มีโรคประจำตัวเสมอว่าสตรีนั้นมีการวางแผนการมีบุตรหรือการตั้งครรภ์ไว้อย่างไร เพื่อให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อมีความพร้อม1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.