รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การประเมินการให้นมลูกด้วย Breastfeeding Assessment Score (BAS) เกณฑ์นี้ใช้ตัวแปรในการประเมิน 8 ตัวแปรคือ อายุมารดา ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำนวนครั้งในการเข้าเต้ายาก ระยะห่างระหว่างการให้นมลูกแต่ละครั้ง จำนวนนมผสมที่ได้รับในโรงพยาบาล การเคยได้รับการผ่าตัดเต้านมมาก่อน มารดามีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ และมารดาคลอดบุตรโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ ข้อมูลจากการประเมินทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากมารดาและทารก คะแนนจะมีช่วงตั้งแต่ -6 ถึง 10 การแปลผล หากคะแนนตั้งแต่ 8 มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หลังคลอด 7-10 วันสูงร้อยละ 95 แต่หากคะแนนน้อยกว่า 8 มีโอกาสที่จะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 211 ประโยชน์ในการนำไปใช้ของเกณฑ์นี้ใช้ในการทำนายการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อวางแผนให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในมารดาและทารกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับความไวของเกณฑ์การประเมินร้อยละ 80 ความจำเพาะร้อยละ 512
ข้อมูลของประสิทธิภาพจากการศึกษาในประเทศไทย ในการใช้เกณฑ์นี้เพื่อคัดกรองมารดาที่มีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในวันที่ 10 หลังคลอด พบมีความไวร้อยละ 53.7 และความจำเพาะร้อยละ 55.8 ซึ่งไม่สามารถนำไปประโยชน์ทางคลินิกเพื่อการคัดกรองได้ อย่างไรก็ตามพบตัวแปรที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ อายุมารดา ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำนวนครั้งในการเข้าเต้ายาก และระยะห่างระหว่างการให้นมลูกแต่ละครั้ง3 เกณฑ์การประเมินการให้นมลูกด้วย Breastfeeding Assessment Score แสดงดังรูป4
เอกสารอ้างอิง
- Hall RT, Mercer AM, Teasley SL, et al. A breast-feeding assessment score to evaluate the risk for cessation of breast-feeding by 7 to 10 days of age. The Journal of Pediatrics 2002;141:659-64.
- Raskovalova T, Teasley SL, Gelbert-Baudino N, et al. Breastfeeding Assessment Score: Systematic Review and Meta-analysis. Pediatrics 2015;135:e1276-85.
- Phadungkiatwattana P, Prewma P. Breastfeeding assessment score, can it be used effectively in Thai population? Thai J Obstet and Gynaecol 2012;20:56-62.
- ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.