การช่วยเหลือทารกที่ปฏิเสธการเข้าเต้าตลอด

hand expression13

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? การที่ทารกปฏิเสธการเข้าเต้าตลอดทุกครั้งที่ให้กินนม บุคลากรทางการแพทย์ควรให้มารดาเล่าอาการการปฏิเสธการเข้าเต้าของทารกว่าเป็นตั้งแต่เมื่อไร มีครั้งไหนที่เข้าเต้าได้หรือไม่ ความถี่ในการให้นมเป็นอย่างไร ได้เคยให้นมขวดทารกกินหรือไม่ และน้ำนมมารดาไหลเป็นอย่างไร เนื่องจากอาจพบสาเหตุหลายสาเหตุร่วมกันได้

? ? ? ? ? ?การช่วยเหลือทารกที่ปฏิเสธการเข้าเต้าตลอด?เริ่มต้นจาก การสังเกตท่าและลักษณะการเข้าเต้าของทารกว่าเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจัดท่าให้ทารกสามารถเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อท่าให้นมลูกถูกต้อง ควรดูเวลาของการให้นมมีความเหมาะสมไหม การให้นมควรให้เมื่อทารกมีลักษณะที่บ่งบอกถึงอาการหิว (feeding cues) หากมารดาเพิ่งป้อนนมไปและนำทารกเข้าเต้า ทารกอาจปฏิเสธการเข้าเต้า หากมารดาปล่อยให้ทารกหิวจนร้องไห้หงุดหงิด ทารกก็จะปฏิเสธการเข้าเต้าได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อมารดาจัดท่าให้นมลูกได้ดีแล้ว หากทารกยังปฏิเสธการเข้าเต้า มารดาควรอุ้มทารกในลักษณะให้เนื้อแนบเนื้อบนหน้าอก (skin-to-skin contact) และรอจนกระทั่งทารกมีอาการที่บ่งบอกว่าหิว จึงเริ่มเข้าเต้าอีกครั้ง นอกจากนี้ การบีบน้ำนมและทาน้ำนมบริเวณหัวนมให้ทารกได้กลิ่นจะช่วยในการเข้าเต้าได้ และในกรณีที่ทารกเคยได้นมขวดมาก่อน น้ำนมอาจไหลเร็ว การบีบน้ำนมด้วยมือให้นมน้ำนมไหลได้ดีก่อนการเข้าเต้าก็จะช่วยเช่นกัน สำหรับทารกที่ขณะเข้าเต้าสังเกตเห็นมีการหายใจติดขัด อาจมีน้ำมูกอุดตันในจมูกหรือทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทารกดูดนมได้ลำบาก หรือหากทารกเจ็บป่วยทำให้การดูดนมได้ไม่ดีหรือปฏิเสธการดูดนม ควรให้การรักษาไปพร้อมกับการฝึกการเข้าเต้า โดยอาจใช้หลอดฉีดยาใส่นมต่อสายติดไว้ที่ลานนม และหยดน้ำนมช่วยขณะทารกเข้าเต้า กระบวนการเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมติดตามจนทารกเข้าเต้าและดูดนมได้ดี จึงจะทำให้มารดามั่นใจในการให้นมแม่และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.