การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การติดเชื้อรา สำหรับกรณีที่มารดามีการติดเชื้อราที่เต้านม ควรทำการรักษาเชื้อราทั้งในปากของทารกและที่หัวนมไปพร้อม ๆ กัน

การรักษามารดา แนะนำให้ใช้ fluconazole ขนาด 400 มิลลิกรัมรับประทารนในวันแรก และรับประทานต่อด้วยขนาดยา 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วันหรือจนกว่ามารดาจะหายจากการเจ็บหัวนม โดยขนาดยาที่ใช้ไม่พบมีผลเสียต่อทารก12 หรืออาจใช้ยาทาเฉพาะที่ที่มีตัวยา miconazole หรือ clotrimazole ทาบริเวณหัวนมและลานนมที่มีการติดเชื้อรา โดยใช้ยาทานาน 2 สัปดาห์หรือจนกว่ามารดาจะหายจากการเจ็บหัวนม  แต่มีข้อระมัดระวังในการใช้ยาทาคือ มารดาต้องเช็ดทำความสะอาดหัวนมและลานนมด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวก่อนที่จะให้ทารกดูดนม และทายาซ้ำหลังทารกดูดนมเสร็จแล้ว สำหรับ nystatin พบว่ามีการดื้อยาของเชื้อราได้มากกว่า13 ไม่แนะนำให้ใช้ ketoconazole เพราะจะเป็นพิษต่อตับของทารกได้14 และไม่แนะนำการใช้ Gentian violet เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดมะเร็ง และอาจทำให้เกิดการแพ้ได้

การรักษาทารก แนะนำให้ใช้ยาน้ำ nystatin (ความเข้มข้น 100000 ยูนิตต่อมิลลิลิตร) หยอดที่ด้านข้างของปากทั้งสองข้าง โดยหยอดข้างละ 0.5 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน 

เอกสารอ้างอิง

12.       Heller MM, Fullerton-Stone H, Murase JE. Caring for new mothers: diagnosis, management and treatment of nipple dermatitis in breastfeeding mothers. Int J Dermatol 2012;51:1149-61.

13.       Wiener S. Diagnosis and management of Candida of the nipple and breast. J Midwifery Womens Health 2006;51:125-8.

14.       Anderson PO. Topical Drugs in Nursing Mothers. Breastfeed Med 2018;13:5-7.