การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะไตรมาสที่สอง

การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะไตรมาสที่สอง

การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะไตรมาสที่สอง

??????????? การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองจะเริ่มเร็วขึ้น? ในสัปดาห์ที่ 16 ขนาดทารกจะประมาณ 14-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 100-110 กรัม ทารกสามารถกลืนน้ำคร่ำและเริ่มพบการหายใจ สัปดาห์ที่ 20 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม ผิวหนังจะดูใส เริ่มมีขนอ่อนตามตัวและมีผม? สัปดาห์ที่ 24 ทารกมีน้ำหนักประมาณ 630 กรัม เริ่มมีการสะสมไขมันใต้ผิวหนัง เริ่มดูดนิ้วมือ และมีพัฒนาการด้านการได้ยินเสียง? สัปดาห์ที่ 28 ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1000 กรัม ผิวหนังบางสีแดง มีไขเกาะตามผิวหนัง จะมีพัฒนาการของระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และตาจะไวต่อแสง

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่พบในไตรมาสที่สองนี้ ได้แก่

– เริ่มรู้สึกกับการตั้งครรภ์ดีขึ้น? อาการแพ้ท้องหายไป ความตื่นเต้นและความปลื้มปิติจะค่อยๆ สั่งสมขึ้น? โดยเฉพาะเมื่อเริ่มรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้น โดยในครรภ์แรกจะรู้สึกราวอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ ส่วนในครรภ์หลังจะรู้สึกราวอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ โดยความรู้สึกครั้งแรกๆ จะคล้ายมีอะไรมากระตุกตุบๆ ในท้องน้อย และค่อยๆ แรงขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น

– จะหิวเก่งและบ่อยตามครรภ์ที่มากขึ้น

– สีผิวบางตำแหน่งจะคล้ำเข้มขึ้น นอกจากบริเวณลานหัวนมและหัวนมแล้ว? เส้นกึ่งกลางตัวระดับต่ำจากกลางหน้าท้องลงไปก็จะมีสีเข้มขึ้นด้วย? สีที่เข้มขึ้นนี้จะจางลงหลังคลอด

– อาจพบมีน้ำนมใสไหลออกจากเต้านมได้

– พบอาการแสบบริเวณหน้าอกหลังกินอิ่ม? และอาหารไม่ย่อยได้

– บริเวณหน้าท้องจะขยายขึ้นเร็ว อาจพบรอยแตกลาย

– บางครั้งพบมดลูกมีการหดรัดตัว? จนแข็งคลำรู้สึกได้? เป็นการเจ็บครรภ์เตือน? อาการปวดอาจพบร่วมได้แต่จะไม่มากและเป็นๆ หายๆ

– อาจพบมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ? ตะคริว? และปวดหลัง

– อาจมีเหงื่อมากจนรู้สึกว่าเป็นปัญหา มักรู้สึกร้อน

– เส้นผม ลักษณะจะเปลี่ยนแปลงไป บางคนอาจนุ่มสลวย หรือบางคนอาจแห้งแตกปลายได้

– ฝ้า พบเพิ่มขึ้นได้ในบางคนที่มีฝ้าอยู่แล้ว

– ในตอนปลายของไตรมาสที่สอง? จะพบขาและเท้าบวมเวลานั่งห้อยขานานๆ ได้? นอกจากนี้อาจพบเส้นเลือดขอดเป็นมากขึ้นได้

– น้ำหนักในช่วงไตรมาสที่สองจะเพิ่มโดยรวมประมาณ 5 กิโลกรัม

คุณแม่จะปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงไตรมาสที่สอง??

การปฏิบัติตัวของคุณแม่ที่เหมาะสมในระยะนี้ ได้แก่

– ไปตรวจฝากครรภ์ตามนัด? และรับประทานยาบำรุงเลือด

– เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์? โดยเพิ่มรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง? เนื่องจากระยะนี้จะมีการเสริมสร้างกระดูกของทารกในครรภ์

– ลักษณะการรับประทานอาหารควรรับประทานมื้อละน้อย? แต่บ่อยครั้งขึ้นเหมือนเดิม? หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและหลังรับประทานอาหารไม่ควรนอนราบทันที เพราะอาจทำให้แสบบริเวณหน้าอกได้ ถ้าต้องการนอนอาจหนุนหมอนสูง

– เสื้อผ้าที่ใส่อยู่อาจรู้สึกคับ? แต่ในระยะแรกคุณแม่อาจจะยังไม่อยากใส่ชุดคลุมท้อง? อาจใส่ชุดหลวมและโปรงสบายได้? แต่เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 6 ควรใส่ชุดคลุมท้องได้แล้วเพราะขนาดหน้าท้องจะขยายเร็วการใส่กางเกงจะรู้สึกอึดอัดได้

– เลือกยกทรงที่เหมาะสมโดยเลือกชนิดที่ทำจากผ้าฝ้ายมีแถบหนารองใต้ทรงสายไหล่กว้างและสามารถปรับตะขอหลังได้? เต้านมคุณแม่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น? จนในที่สุดมักจะใหญ่กว่าตอนแรกราว 2 ขนาด ฉะนั้นเมื่อเลือกซื้อเสื้อยกทรงไม่ควรซื้อครั้งละมากๆ

– เมื่อท้องใหญ่ขึ้นในช่วงอายุครรภ์ราว 20 สัปดาห์ การขยายตัวของมดลูกจะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเกิดอาการแตกลายและเป็นริ้วรอยโดยเฉพาะผู้ที่มีผิวคล้ำจะเห็นได้ชัด การที่อ้วนหรือมีน้ำหนักมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยง การทาโลชั่นหรือน้ำมันมะกอกช่วยให้ผิวยืดหยุ่นดีก็มีส่วนช่วยลดอาการหน้าท้องแตกลายได้

– พักผ่อนให้เพียงพอในเวลากลางวันและเข้านอนแต่หัวค่ำ? ถ้ายังทำงานอยู่ควรใช้เวลาในช่วงพักกลางวันยกขาสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนจากบริเวณขาได้ดีขึ้น? และทำลักษณะเดียวกันเมื่อกลับบ้าน

– ไม่ควรก้มยกของหนัก? ถ้าจำเป็นควรนั่งยองๆ แล้วค่อยๆ ยก

– หากเป็นตะคริว การเกิดตะคริวเกิดจากระดับของแคลเซียมในร่างกายลดลง เนื่องจากมีการนำไปใช้เพิ่มขึ้นในการสร้างกระดูกทารก ดังนั้นหากนั่งหรือยืนนานๆ เลือดไหลเวียนไม่ดี จะมีการขาดแคลเซียมในกล้ามเนื้อได้ การป้องกันคือ พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขยับเปลี่ยนท่าเมื่อนั่งหรือยืนนานๆ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หากเป็นตะคริวแล้ว การรักษาคือ การรับประทานแคลเซียมเสริมมากขึ้น รับประทานปลาตัวเล็ก นม ผลิตภัณฑ์อาหารจากนมเพิ่มขึ้น

– สวมรองเท้าส้นเตี้ย การใส่สันสูงจะส่งเสริมให้เกิดการปวดหลัง เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องแบกน้ำหนักท้อง ทำให้กระดูกสันหลังระดับเอวแอ่นมากขึ้น การใส่ส้นสูงจะส่งเสริมภาวะนี้ การปวดหลังจึงเพิ่มขึ้นได้

– การมีเพศสัมพันธ์สามารถมีได้ตามปกติ? ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอันได้แก่ เลือดออกจากโพรงมดลูกหรือภาวะแท้งคุกคาม ท่าในการมีเพศสัมพันธ์เมื่อท้องใหญ่ขึ้น อาจจะใช้ท่าที่คุณแม่นั่งอยู่ทางด้านบนหรือคุณแม่หันหลังคุกเข่าและใช้มือวางบนพื้นได้

– หลีกเลี่ยงการย้อมผมหรือดัดผมระหว่างตั้งครรภ์ เพราะจะได้รับสารเคมีจากยาย้อมหรือยาดัดผมซึ่งส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

– สำหรับผู้ที่มีฝ้าเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ หลังคลอดมักจะค่อยๆ หายไปเอง ไม่ควรรับประทานยาแก้ฝ้า หรือซื้อยามาทาเอง ควรหลีกเลี่ยงการถูกแดดเป็นเวลานานๆ

– ท่านั่งที่เหมาะสมคือ ควรนั่งให้หลังตรง หลัง ไหล่ และสะโพกพิงพนักเก้าอี้ วางแขนที่เท้าแขนหรือบนตัก เท้าราบกับพื้นหรือวางบนที่วางเท้า แยกเข่าเล็กน้อย

– ท่ายืนที่เหมาะสมคือ ยืนตรงเท้าแยกจากกันเล็กน้อย ลงน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้าง เข่าตรง ยืดอก ปล่อยไหล่ตามสบาย

– ท่านอนที่เหมาะสมเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นในปลายไตรมาสที่สอง ควรนอนตะแคง งอขาข้างหนึ่งและใช้หมอนรองไว้ เพราะการนอนหงายจะอึดอัดเนื่องจากขนาดมดลูกที่ใหญ่จะกดทับเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ข้างใต้และทำให้หายใจไม่สะดวก

– เมื่ออายุครรภ์ยังเล็ก การสัมผัสจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ราว 24 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มได้ยินเสียง การเปิดเพลงบรรเลง เพลงช้าๆ เพลงคลาสิก ช่วยเรื่องอารมณ์และกระตุ้นการพัฒนาการ การตั้งชื่อเล่นโดยเรียกชื่อทารก ร่วมกับคุณพ่อและคุณแม่พูดคุยกับในเรื่องต่างๆ จะช่วยสานความสัมพันธ์ความคุ้นเคยระหว่างทารกกับเสียงคุณพ่อและคุณแม่ เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมองเห็น การกระตุ้นโดยใช้ไฟฉายส่องบริเวณท้องแม่ สอนและพูดคุยกับทารก จะกระตุ้นพัฒนาการทางตาและระบบประสาทได้

อาการอะไรบ้างที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ในไตรมาสที่สอง?

– มีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุ

– ปัสสาวะแสบ ขัด หรือเป็นเลือด

– ปวดท้องน้อยรุนแรง หรือมีเจ็บครรภ์ ท้องแข็งเป็นก้อนเป็นพักๆ นอนพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น

– เลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นอาการนำของการแท้ง หรือการตกเลือดก่อนคลอด

– ทารกในครรภ์ดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้น

– ท้องลดขนาดลง หรือน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ

– ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นหรือคันช่องคลอด

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์