รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. จะทำการเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจากตัวอย่างนี้ อสม. ได้ช่วยสอนมารดาจัดท่าให้นมลูกท่าฟุตบอล ซึ่งจะช่วยให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ลึก ในกรณีที่มารดามีขนาดเต้านมใหญ่ โดยท่าให้นมที่เหมาะสมจะช่วยให้มารดาเข้าเต้าได้ดีขึ้น
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนเป็นฝีที่เต้านม การระบายหนองออกจากเต้านมเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัจจุบันแนะนำให้เจาะดูดด้วยเข็มฉีดยาขนาดเบอร์ 18 ต่อกับหลอดฉีดยาขนาด 10-20 มิลลิลิตร เพราะหากใช้เข็มฉีดยาขนาดเบอร์เล็ก อาจดูดหนองไม่ออก เนื่องจากหนองมักข้นและเหนียวมาก การเจาะดูดด้วยเข็มฉีดยาสามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง หากพบว่ายังมีหนองขังอยู่ในปริมาณที่มากหลังการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมในการรักษา สำหรับการผ่าเปิดแผลเพื่อระบายหนองนั้นมักใช้เป็นทางเลือกลำดับหลัง เนื่องจากแผลจะหายช้า และการผ่าตัดอาจไปทำลายหรือตัดท่อน้ำนมได้มากกว่าการเจาะโดยใช้เข็มฉีดยา
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ฝีที่เต้านมถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่เกิดได้จากการดูดนมหรือเข้าเต้าของทารกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เต้านมอักเสบ และกลายเป็นฝีที่เต้านมในที่สุด ตัวอย่างในรายนี้ ฝีที่เต้านมแตกและมีหนองไหลออกมา การช่วยบีบระบายหนองให้ออกมาให้มากที่สุด จะช่วยให้ฝีหายเร็วขึ้น และการเห็นลักษณะที่มีหนองปนเลือดออกมา แสดงถึงว่า หนองที่ขังอยู่ในเต้านมน่าจะออกมาใกล้จะหมดแล้ว ซึ่งอาจหยุดการบีบไล่หนองจากฝีที่เต้านมได้
รศ.นพ. ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกที่สับสนหัวนม เวลาดูดนมจะปฏิเสธ หรือร้องไห้ไม่พอใจจากการที่คุ้นเคยกับการดูดนมจากขวดที่นมจะไหลได้เร็วโดยทารกไม่ต้องออกแรงดูดมาก ดังนั้น การฝึกให้ทารกดูดนมจากเต้ามารดาในช่วงแรก อาจช่วยเหลือโดยการบีบกระตุ้นเต้านมให้น้ำนมไหลเร้วขึ้น และช่วยหยดนมแม่ที่บีบเก็บหรือปั๊มไว้จากหลอดฉีดยา เพื่อช่วยให้ทารกคงการดุดนมจากเต้าและไม่ปฏิเสธที่จะดูดนมจากเต้า
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูดนมแม่จากเต้านมนั้น ทารกจะต้องอ้าปากกว้างเพื่ออมหัวนมและลานนมให้ลึก จากนั้นใช้ลิ้นยื่นออกมากดบริเวณลานนม เพื่อช่วยไล่น้ำนมจากต่อมน้ำนม มาที่ท่อน้ำนมและหัวนม ร่วมกับสร้างแรงดูดจากการออกแรงดูดในช่องปาก น้ำนมแม่จึงจะไหลออกมา ต่างกับการดูดนมจากขวดนมที่น้ำนมจะไหลได้เองอยู่แล้ว หรือทารกออกแรงดูดเล็กน้อยน้ำนมก็จะไหลแรงขึ้น จากตัวอย่างทารกในรายนี้มีอาการสับสนหัวนมจากการที่มารดาให้ทารกกินนมขวด จนติดนมขวด เมื่อนำมาเข้าเต้าเพื่อดูดนมจากมารดา ทารกจะดูดสั้น ๆ เมื่อน้ำนมไม่ไหลออกมา จะหยุดดูดหรือมีอาการหงุดหงิด ร้องไห้ ขณะที่หากให้ดูดนมขวด ทารกจะดูดได้ดีและรู้สึกพอใจมากกว่า
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)