คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

ภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อในนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              นมแม่จะมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันสำหรับทารก ซึ่งสารที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นสารประกอบประเภทโปรตีนที่สำคัญ คือ immunoglobulin A และเซลล์เม็ดเลือดขาวหลากหลายชนิดที่จะเป็นทั้งภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดา และภูมิคุ้มกันจะมีผ่านการจดจำของเซลล์เม็ดเลือดขาวต่อเชื้อโรคที่มารดาเคยได้รับมาก่อน โดยที่จะไปทำหน้าที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ของทารก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การป้องกันการติดเชื้อและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเป็นปกติ ทารกที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ ได้แก่ ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ1 ลดการเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรง2,3 ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ4,5 และลดการเกิดโรคมือ ปาก เท้าเปื่อย6

เอกสารอ้างอิง

  1. Korvel-Hanquist A, Djurhuus BD, Homoe P. The Effect of Breastfeeding on Childhood Otitis Media. Curr Allergy Asthma Rep 2017;17:45.
  2. Libster R, Bugna Hortoneda J, Laham FR, et al. Breastfeeding prevents severe disease in full term female infants with acute respiratory infection. Pediatr Infect Dis J 2009;28:131-4.
  3. Vereen S, Gebretsadik T, Hartert TV, et al. Association between breast-feeding and severity of acute viral respiratory tract infection. Pediatr Infect Dis J 2014;33:986-8.
  4. Marild S, Hansson S, Jodal U, Oden A, Svedberg K. Protective effect of breastfeeding against urinary tract infection. Acta Paediatr 2004;93:164-8.
  5. Hanson LA. Protective effects of breastfeeding against urinary tract infection. Acta Paediatr 2004;93:154-6.
  6. Zhu Q, Li Y, Li N, et al. Prolonged exclusive breastfeeding, autumn birth and increased gestational age are associated with lower risk of fever in children with hand, foot, and mouth disease. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 2012;31:2197-202.

 

 

 

ความครบถ้วนของสารอาหารในนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   นมแม่มีสารประกอบกว่า 200 ชนิด และมีสารอาหารที่ครบถ้วน มีสัดส่วนโปรตีนที่ย่อยง่ายสูง มีปริมาณไขมันปรับเปลี่ยนตามกินนมของทารก นอกจากนี้ยังมีความพิเศษที่สามารถมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด1 โดยมีปริมาณกรดไขมันและ polyamine สูงกว่านมแม่ของทารกที่คลอดครบกำหนด2,3 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำนม โปรตีน และพลังงานของนมแม่จะไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ขึ้นกับสารอาหารที่มารดารับประทาน หากมารดาไม่ได้มีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหารเป็นเวลานาน4,5 ดังนั้นมารดาสามารถให้นมลูกได้ แม้จะอยู่ในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในภาวะที่มีอุบัติภัย 

เอกสารอ้างอิง

  1. Hsu YC, Chen CH, Lin MC, Tsai CR, Liang JT, Wang TM. Changes in preterm breast milk nutrient content in the first month. Pediatr Neonatol 2014;55:449-54.
  2. Berenhauser AC, Pinheiro do Prado AC, da Silva RC, Gioielli LA, Block JM. Fatty acid composition in preterm and term breast milk. Int J Food Sci Nutr 2012;63:318-25.
  3. Plaza-Zamora J, Sabater-Molina M, Rodriguez-Palmero M, et al. Polyamines in human breast milk for preterm and term infants. Br J Nutr 2013;110:524-8.
  4. Mohammad MA, Sunehag AL, Haymond MW. Effect of dietary macronutrient composition under moderate hypocaloric intake on maternal adaptation during lactation. Am J Clin Nutr 2009;89:1821-7.
  5. Dewey KG, Lovelady CA, Nommsen-Rivers LA, McCrory MA, Lonnerdal B. A randomized study of the effects of aerobic exercise by lactating women on breast-milk volume and composition. N Engl J Med 1994;330:449-53.

การใช้เครื่องติดตามสุขภาพทารกที่คลอดก่อนกำหนดขณะดูดนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

        ทารกที่คลอดก่อนกำหนด มักจะพบภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ได้แก่ การหายใจเร็ว หอบ ภาวะเลือดออกในสมอง จึงมักต้องได้รับการดูแลที่หอทารกป่วยวิกฤต ซึ่งเมื่อทารกดีขึ้น และน้ำหนักขึ้นเกิน 2 กิโลกรัม จะมีการวางแผนเตรียมทารกให้กลับบ้าน การฝึกให้ทารกดูดนมแม่จากเต้าเป็นสิ่งจำเป็น โดยในระยะแรกในระหว่างการฝึกดูดนม อาจมีการใช้เครื่องติดตามอาการของทารก ดังตัวอย่าง เครื่องจะแสดงภาวะออกซิเจนในกระแสเลือดทารกราวร้อยละ 98 และแสดงชีพจรหรือการเต้นของหัวใจทารกราว 165-170 ครั้งต่อนาที

พยาบาลเยี่ยมบ้านสอนแม่ให้นมลูกท่านอน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          วิธีการที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่วิธีหนึ่ง คือ การติดตามเยี่ยมบ้านโดยพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เนื่องจากในระหว่างการเยี่ยมบ้าน พยาบาลอาจให้มารดาแสดงการให้นมลูกให้ดู แล้วทำการประเมินว่า การให้นมลูกของมารดามีการจัดท่าที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสามารถสอบถามปัญหาที่มารดาพบหลังกลับไปอยู่ที่บ้าน ให้คำปรึกษา และอาจมีการสอนท่าในการให้นมลูกเพิ่มเติม โดยเฉพาะท่านอนให้นมลูก ซึ่งมารดาสามารถจะพักผ่อนไปพร้อมกับการให้นมลูกได้

การให้นมแม่แก่ทารกหลังคลอดพร้อมลูกคนก่อน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           แม่สามารถให้นมทารกหลังคลอดไปพร้อม ๆ กับให้ลูกคนก่อนกินนมได้ โดยจะให้ไปพร้อม ๆ กันดังตัวอย่าง คนโตดูดเต้าหนึ่ง คนเล็กดูดอีกเต้าหนึ่ง หรืออาจให้ทารกคนเล็กกินนมก่อนแล้วค่อยให้คนโตกิน ก็สามารถทำได้เช่นกัน มารดาไม่ต้องกังวลว่านมแม่จะมีไม่พอ เพราะการให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ และเกลี้ยงเต้า นมแม่จะยิ่งสร้างเร็วและมากขึ้น