คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การกินนมแม่ป้องกันโรคมือ เท้า ปากเปื่อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ภูมิคุ้มกันของทารกที่ดีจะส่งผลป้องกันการติดเชื้อในทารกได้ โรคมือ ปาก เท้าเปื่อยมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  โดยที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้บ่อย ปกติแล้วโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม enterovirus อาการมักมีตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า และในช่องปาก ทำให้เกิดอาการเจ็บ มีไข้ ส่วนใหญ่สามารถหายได้เองในหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการให้ทารกได้กินนมแม่จะป้องกันการเกิดโรคมือ ปาก เท้าเปื่อย1 โดยที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนานจะช่วยอาการที่รุนแรงของโรคมือ เท้า ปากเปื่อยได้2

เอกสารอ้างอิง

  1. Li Y, Dang S, Deng H, et al. Breastfeeding, previous Epstein-Barr virus infection, Enterovirus 71 infection, and rural residence are associated with the severity of hand, foot, and mouth disease. Eur J Pediatr 2013;172:661-6.
  2. Zhu Q, Li Y, Li N, et al. Prolonged exclusive breastfeeding, autumn birth and increased gestational age are associated with lower risk of fever in children with hand, foot, and mouth disease. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 2012;31:2197-202.

การกินนมแม่ลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การให้นมแม่แก่ทารกจะมีผลต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารก โดยจะควบคุมให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของทารกเป็นปกติ และมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อในหลากหลายระบบ รวมทั้งระบบทางเดินปัสสาวะ มีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ1,2 นอกจากนี้ ยังพบว่า การกินนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย3 ซึ่งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่จะส่งผลให้ทารกต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น การลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะลง ก็เท่ากับช่วยลดจำนวนวันที่ทารกต้องนอนโรงพยาบาลลงด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Marild S, Hansson S, Jodal U, Oden A, Svedberg K. Protective effect of breastfeeding against urinary tract infection. Acta Paediatr 2004;93:164-8.
  2. Hanson LA. Protective effects of breastfeeding against urinary tract infection. Acta Paediatr 2004;93:154-6.
  3. Levy I, Comarsca J, Davidovits M, Klinger G, Sirota L, Linder N. Urinary tract infection in preterm infants: the protective role of breastfeeding. Pediatr Nephrol 2009;24:527-31.

การกินนมแม่ลดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การที่ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ มีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่จะช่วยลดการเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยลดจำนวนครั้งของการเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ และลดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรง1-3 ซึ่งการกินนมแม่ของทารกจะสามารถลดการเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้ 0.64 เท่า (95%CI 0.42-0.99)2 และนอกจากนี้ ยังพบว่าการกินนมแม่สามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อ respiratory syncytial virus ได้ด้วย4,5 ซึ่งการลดจำนวนครั้งของการเจ็บป่วยและการลดความรุนแรงของการติดเชื้อ จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมด้านสาธารณสุขของประเทศ ทำให้การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในการลงทุนทางด้านการป้องกันสุขภาพที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Libster R, Bugna Hortoneda J, Laham FR, et al. Breastfeeding prevents severe disease in full term female infants with acute respiratory infection. Pediatr Infect Dis J 2009;28:131-4.
  2. Vereen S, Gebretsadik T, Hartert TV, et al. Association between breast-feeding and severity of acute viral respiratory tract infection. Pediatr Infect Dis J 2014;33:986-8.
  3. Zivich P, Lapika B, Behets F, Yotebieng M. Implementation of Steps 1-9 to Successful Breastfeeding Reduces the Frequency of Mild and Severe Episodes of Diarrhea and Respiratory Tract Infection Among 0-6 Month Infants in Democratic Republic of Congo. Matern Child Health J 2018;22:762-71.
  4. Nishimura T, Suzue J, Kaji H. Breastfeeding reduces the severity of respiratory syncytial virus infection among young infants: a multi-center prospective study. Pediatr Int 2009;51:812-6.
  5. Roine I, Fernandez JA, Vasquez A, Caneo M. Breastfeeding reduces immune activation in primary respiratory syncytial virus infection. Eur Cytokine Netw 2005;16:206-10.

 

การกินนมแม่ช่วยป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การให้ทารกได้กินนมแม่จะช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ กลไกในการป้องกันอธิบายจากกระบวนการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยในการพัฒนาของกรามทารกพร้อมกับระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ กล้ามเนื้อลิ้นและกล้ามเนื้อของ Eustachian tube การพัฒนาการของระบบเหล่านี้จะช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อของระบบหู ช่วยในการพูดที่ชัดเจน และช่วยลดฟันผุและความเสี่ยงของการเกิดปัญหาของระบบเหงือกและฟัน1,2 มีผลจากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบในวัยเด็กช่วงแรกได้ร้อยละ 40-503 ซึ่งระยะเวลาและรูปแบบของการกินนมแม่มีความสำคัญ โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่าหกเดือนจะช่วยลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบในช่วงหกปีแรกของการเจริญเติบโต และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีผลป้องกันการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ดีกว่าการให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมอย่างอื่นในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด4

เอกสารอ้างอิง

  1. Abrahams SW, Labbok MH. Breastfeeding and otitis media: a review of recent evidence. Curr Allergy Asthma Rep 2011;11:508-12.
  2. Vogazianos E, Vogazianos P, Fiala J, Janecek D, Slapak I. The effect of breastfeeding and its duration on acute otitis media in children in Brno, Czech Republic. Cent Eur J Public Health 2007;15:143-6.
  3. Brennan-Jones CG, Eikelboom RH, Jacques A, et al. Protective benefit of predominant breastfeeding against otitis media may be limited to early childhood: results from a prospective birth cohort study. Clin Otolaryngol 2017;42:29-37.
  4. Korvel-Hanquist A, Djurhuus BD, Homoe P. The Effect of Breastfeeding on Childhood Otitis Media. Curr Allergy Asthma Rep 2017;17:45.

 

การกินนมแม่ช่วยลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ทารกที่กินนมแม่จะมีการติดเชื้อในทางเดินอาหารลดลง โดยกลไกป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารนั้น อธิบายจากนมแม่จะไปเคลือบเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งสารในนมแม่จะป้องกันการผ่านของเชื้อโรคเข้าสู่ผนังลำไส้ ทำให้ลดการติดเชื้อในทางเดินทางอาหาร นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ลดจำนวนครั้งของการเกิดท้องเสีย1 และการติดเชื้อในกระแสเลือด2 ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการเสียชีวิตของทารกได้ สำหรับพื้นที่ที่ยังขาดความพร้อมในการให้การดูแลด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล สาเหตุหลักที่ทำให้ทารกเสียชีวิตยังคงเป็นการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ดังนั้น การให้ลูกได้กินนมแม่ จึงเท่ากับเป็นการป้องกันการเสียชีวิตของทารกในระยะแรกเกิดนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Zivich P, Lapika B, Behets F, Yotebieng M. Implementation of Steps 1-9 to Successful Breastfeeding Reduces the Frequency of Mild and Severe Episodes of Diarrhea and Respiratory Tract Infection Among 0-6 Month Infants in Democratic Republic of Congo. Matern Child Health J 2018;22:762-71.
  2. Hanson LA, Korotkova M. The role of breastfeeding in prevention of neonatal infection. Semin Neonatol 2002;7:275-81.