คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

โรคมือ ปาก เท้าเปื่อย นมแม่ช่วยได้

image

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลที่ศูนย์เด็กเล็ก โรคหนึ่งที่พบเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กเจ็บป่วย กินไม่ได้ สร้างความวิตกกังวลให้กับมารดาและผู้ปกครอง ได้แก่ โรคมือ ปาก เท้า เปื่อย ที่ติดต่อกันผ่านการสัมผัส ซึ่งมักจะติดต่อกันในได้ง่ายในศูนย์เด็กเล็กหรือในโรงเรียนอนุบาล มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า การให้ลูกได้กินนมแม่นานตั้งแต่หกเดือนถึงหนึ่งปีจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมือ ปาก เท้าเปื่อยที่รุนแรงได้ 1 นี่ก็เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของนมแม่ที่ส่งผลระยะยาวต่อความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันโรคเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้ในระดับหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

  1. Li Y, Deng H, Li M, et al. Prolonged Breastfeeding Is Associated With Lower Risk Of Severe Hand, Foot And Mouth Disease In Chinese Children. Pediatr Infect Dis J 2016;35:353-5.

?

?

?

นมแม่ ช่วยเรื่องหัวใจของทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์

image

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์คือ การที่ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า ซึ่งทารกเหล่านี้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น มีการศึกษาการให้ทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์กินนมแม่และดูแลเรื่องอาหารตามวัยสำหรับทารกพบว่า การกินนมแม่นานมากกว่าหกเดือนช่วยให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้นในเด็กที่อายุ 4-5 ปี1 จะเห็นว่าในสภาวะปัจจุบัน ความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดพบเพิ่มมากขึ้นจากลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย ดังนั้น หากช่วยเหลือทารกที่มีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ให้มีต้นทุนของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้นได้ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าลงทุน และคุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้เพิ่มเติมด้านอื่นๆ จากการกินนมแม่ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่ธรรมชาติสร้างมาสำหรับมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodriguez-Lopez M, Osorio L, Acosta-Rojas R, et al. Influence of breastfeeding and postnatal nutrition on cardiovascular remodeling induced by fetal growth restriction. Pediatr Res 2016;79:100-6.

?

?

?

ทารกท้องเสีย ต้องหยุดกินนมแม่หรือไม่

image

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? โดยทั่วไป เมื่อมีอาการท้องเสีย มักได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินนม เนื่องจากน้ำย่อยน้ำตาลในน้ำนมที่ผลิตจากผนังลำไส้จะลดปริมาณลง ทำให้การย่อยเกิดได้ไม่ดี จึงอาจมีการขับถ่ายมากขึ้นได้ แต่ในทารกที่กินนมแม่กลับไม่มีอาการท้องเสียเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากนมแม่มีสารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้และยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดา นอกจากนี้ นมแม่ยังจะช่วยเรื่องภาวะขาดน้ำในทารกที่มีอาการท้องเสียได้ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องหยุดกินนมแม่ในทารกที่มีอาการท้องเสีย1,2

เอกสารอ้างอิง

  1. Pantenburg B, Ochoa TJ, Ecker L, Ruiz J. Feeding of young children during diarrhea: caregivers’ intended practices and perceptions. Am J Trop Med Hyg 2014;91:555-62.
  2. Guarino A, Ashkenazi S, Gendrel D, et al. European Society for Pediatric Gastroenterology, Hepatology, and Nutrition/European Society for Pediatric Infectious Diseases evidence-based guidelines for the management of acute gastroenteritis in children in Europe: update 2014. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2014;59:132-52.

?

 

 

มารดาเป็นไข้เลือดออก ทารกกินนมแม่ได้หรือไม่

IMG_9419

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดต่อจะผ่านพาหะคือยุงลาย ไม่มีการติดต่อผ่านสารคัดหลั่งหรือการสัมผัส ดังนั้นมารดาที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก หากไม่มีอาการรุนแรง มีไข้สูงหรือป่วยหนัก สามารถให้นมบุตรได้ ยังไม่มีข้อมูลรายงานการติดเชื้อไข้เลือดออกผ่านการให้นม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มารดามีไข้สูงจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือดและอาจผ่านน้ำนมได้ ในระหว่างมารดามีไข้สูงจึงแนะนำการงดนมชั่วคราว แต่หากมารดามีน้ำนมที่มารดาปั๊มหรือบีบเก็บไว้ก่อน สามารถนำมาให้ได้ โดยในระหว่างการงดให้นมชั่วคราว มารดาควรกระตุ้นเต้านมโดยการบีบหรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เต้านมคงการสร้างน้ำนมต่อไปได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Maternal infectious diseases, antimicrobial therapy or immunizations: Very few contraindications to breastfeeding. Paediatr Child Health 2006;11:489-91.

?

?

 

การเจ็บเต้านมในระยะแรกหลังคลอด

image

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การที่มารดามีอาการเจ็บเต้านมในระยะแรกหลังคลอด สิ่งผิดปกติที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ การมีท่อน้ำนมอุดตัน (plugged duct) ซึ่งมารดาอาจคลำได้เป็นก้อนหยุ่นที่เต้านม กดเจ็บ ภาวะนี้จะพบในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอดที่น้ำนมเริ่มมามากขึ้น โดยหากมารดาปฏิบัติตัวหรือดูแลเต้านมไม่เหมาะสม ปล่อยให้มีการตึงหรือค้างของน้ำนมอยู่ในเต้านมมาก มารดาจะมีอาการปวดเต้านม ในกรณีที่มารดาใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัดเกินไปอาจเกิดการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนมไม่สะดวกอาจนำไปสู่การเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ การดูแลรักษาต้องพยายามให้มีการระบายน้ำนมจากบริเวณท่อน้ำนมที่อุดตัน โดยอาจใช้การนวดเต้านม การประคบน้ำร้อน หรือให้ทารกดูดโดยให้คางของทารกกดบริเวณที่มีก้อนของท่อน้ำนมอุดตัน การเกิดท่อน้ำนมอุดตัน หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อนนี้จะรุนแรงเกิดเป็นภาวะเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้

? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม การเจ็บเต้านมและหัวนมอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทารกมีภาวะลิ้นติด การหดรัดตัวของเส้นเลือดที่ผิดปกติที่หัวนม (vasospasm) และการใช้เครื่องปั๊มนม1 ดังนั้น การใส่ใจในเรื่องการเจ็บหัวนมและเต้านมของมารดา การสังเกตมารดาขณะให้นมบุตร และช่วยมารดาในเรื่องการเจ็บหัวนมและเต้านม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Berens P, Eglash A, Malloy M, Steube AM. ABM Clinical Protocol #26: Persistent Pain with Breastfeeding. Breastfeed Med 2016;11:46-53.