คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

รู้ได้อย่างไรว่า ลูกดูดเฉพาะหัวนม

IMG_2977

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดาให้นมลูก การนำลูกเข้าเต้าจะต้องให้ลูกอมหัวนมและลานนมได้ลึก หากมารดามีลานนมไม่กว้าง ขณะทารกดูดนมอาจมองไม่เห็นลานนม แต่ในมารดาที่มีลานนมกว้าง การดูดนมที่เหมาะสมจะเห็นลานนมด้านบนมากกว่าด้านล่าง เนื่องจากการดูดนมของทารกจะเป็นการดูดนมที่ขากรรไกรล่างของทารกจะงับลานนมทางด้านล่างมากว่า เพื่อขยับและไล่น้ำนมจากท่อน้ำนมได้ดีกว่า นอกจากการสังเกตบริเวณลานนมแล้ว หากมารดาเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม ก็เป็นไปได้ว่าทารกจะดูดนมไม่เหมาะสม คือดูดเฉพาะจากหัวนม การใช้นิ้วที่สะอาดใส่ที่มุมปากทารกให้ทารกอ้าปากคลายหัวนมออก และทำการสังเกตลักษณะของหัวนมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ โดยหากลักษณะหัวนมมารดาถูกบีบหรือแบนราบ แสดงว่าทารกดูดเฉพาะหัวนม หากหัวนมยังกลม และตั้งเป็นลำที่ดี แสดงว่าทารกดูดอมลานนมได้ลึก ไม่กดหรือดูดเฉพาะหัวนม ดังนั้น การช่างสังเกตและซักถามความรู้สึกของมารดาจะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกการเข้าเต้าที่เหมาะสมของมารดาและทารกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ท่าให้นมนั้น สำคัญไฉน

IMG_2942

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ในการให้นมแม่ หลักการคือต้องการให้ทารกดูดและกลืนน้ำนมได้สะดวกและดี ซึ่งต้องอาศัยการประกบปากแนบชิดสนิทกับเต้านม โดยตำแหน่งของการอมหัวนมและลานนมทางด้านล่างจะมากกว่าทางด้านบน เนื่องจากทารกต้องใช้ลิ้นยื่นออกมา กดหรือรองรับใต้หัวนมบริเวณลานนม คางทารกที่แนบชิดกับเต้านมจะช่วยไล่นมผ่านการหดรัดตัวของลิ้นเป็นคลื่นจังหวะลงในลำคอ ดังนั้น การจัดศีรษะและลำตัวของทารกจึงต้องอยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อการกลืนนมที่สะดวกของทารก

? ? ? ? ? ? ? ?ในช่วงแรกที่มารดาและทารกยังขาดประสบการณ์ การจัดท่าให้นมนั้นจะมีความสำคัญ หากบุคลากรทางการแพทย์ให้การสังเกตสรีระของร่างกายของทั้งมารดาและทารก เลือกท่าให้นมที่จะให้ส่งเสริมการอมหัวนมและลานนมได้ลึก ก็จะช่วยให้การเข้าเต้าเป็นไปด้วยดี เช่น หัวนมของมารดามีขนาดใหญ่หรือทารกตัวเล็ก ปากเล็ก การจัดท่าให้นมในท่าฟุตบอล จะช่วยให้การอมหัวนมและลานนมทำได้ลึก ซึ่งจะลดปัญหาการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม มารดาเจ็บหัวนม หรือทารกกินนมได้ไม่เพียงพอได้ แต่เมื่อมารดาและทารกได้เรียนรู้ท่าหรือลักษณะการดูดนมที่เหมาะสมแล้ว การจัดท่าต่าง ๆ ตามความรู้สึกสบายหรือตามความต้องการของมารดาและทารกก็สามารถทำได้โดยง่ายดาย1 เนื่องจากมารดาและทารกได้ทักษะการเข้าเต้าที่ถูกต้องไปแล้ว ระยะเวลาในการปรับตัวนี้อาจไม่เท่ากันในมารดาและทารกในแต่ละคู่ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ มารดาจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองว่าสามารถให้นมลูกได้ด้วยความมั่นใจและรู้สึกสบาย นั่นคือ การผ่านการรับรองว่าสามารถให้นมลูกด้วยท่าใด ๆ ที่เลือกได้เหมาะสมแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017;12:233-7.

ให้นมลูกบ่อยแค่ไหนจึงเพียงพอ

IMG_3962

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? โดยทั่วไป ทารกแรกเกิดมักจะกินนมราว 8-12 ครั้งต่อวัน นั่นคือราว 2-3 ชั่วโมงต่อหนึ่งครั้ง ในช่วงแรกหลังคลอดอาจจำเป็นต้องยึดหลักนี้ แต่เมื่อมารดาและทารกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มารดาที่อยู่ด้วยกันกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงจะสามารถสังเกตอาการที่จะบ่งบอกว่าลูกหิวได้เร็ว ซึ่งการให้นมที่เหมาะสมก็คือการให้นมตามความต้องการของทารก ทารกแต่ละคนอาจมีลักษณะของการกินนมที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นมักดูดนมในจังหวะที่เร็ว ต่อมาจังหวะของการดูดนมจะช้าลง จังหวะของการดูดนมของทารกจะสลับกับการกลืนนม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการดูดนมในแต่ละครั้งราว 15-20 นาที แม้ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะกำหนดเวลาการกินนมที่แน่ชัดของทารก แต่การติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกก็เป็นหนทางหนึ่งที่ใช้ประเมินความเพียงพอในการที่มารดาให้นมแม่แก่ลูก โดยหากลูกเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ น่าจะแสดงว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการให้นมลูกกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบว่า ทารกที่เริ่มกินนมแม่ช้า เข้าเต้าได้ไม่ดี กินนมแม่น้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง และครั้งหนึ่งนานน้อยกว่า 10 นาทีจะสัมพันธ์กับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ซึ่งผลก็น่าจะมาจากการที่ทารกกินนมแม่ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ สารเหลืองที่อยู่ในขี้เทาในลำไส้ จึงได้รับการขับถ่ายช้า ลำไส้ทารกดูดซึมสารเหลืองกลับเข้ากระแสเลือดได้มาก ทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลือง1

เอกสารอ้างอิง

  1. Ketsuwan S, Baiya N, Maelhacharoenporn K, Puapornpong P. The association of breastfeeding practices with neonatal jaundice J Med Assoc Thai 2016;99(suppl.8):s36-42.

สิ่งของเครื่องใช้สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล

IMG_3453

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดาได้เลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดบุตรแล้ว มารดาได้มาติดตามการฝากครรภ์ตามกำหนด มาอบรมความรู้และการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดบุตรและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากใกล้วันครบกำหนดคลอด มารดาควรมีการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่จะต้องใช้เมื่อถึงเวลาคลอดบุตรและต้องให้นมลูก โดยมารดาควรเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ใส่กระเป๋าที่จะนำไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอด มีมูกเลือด หรือมีน้ำเดิน สิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียม ได้แก่ ผ้าอนามัยชนิดที่มีสายหรือห่วงที่ใช้ใส่หลังคลอดเพื่อการสังเกตติดตามเลือดที่ออกหลังคลอดหรือน้ำคาวปลา ชุดสำหรับทารก ผ้าอ้อม ผ้าเช็ดตัวของมารดาและของทารก ชุดชั้นในที่เหมาะในการให้นมบุตร หมอนรองสำหรับการให้นมบุตร ชุดสำหรับมารดาที่จะใส่กลับบ้าน รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแจ้งเกิดของทารก คือ บัตรประจำตัวประชาชนของมารดาและบิดา ทะเบียนสมรส และสำเนาทะเบียนบ้านที่จะใช้สำหรับโอนชื่อทารกเข้าที่บ้าน ซึ่งหากมารดาได้เตรียมความพร้อมโดยจัดกระเป๋าที่มีของใช้และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว เมื่อถึงเวลาที่มารดาเจ็บครรภ์คลอด มารดาและครอบครัวก็จะไม่เครียดและไม่วิตกกังวลในเรื่องการนอนโรงพยาบาล การที่จะให้ลูกกินนมแม่ รวมถึงการแจ้งเกิดทารกตามระเบียบหรือขั้นตอนของโรงพยาบาลและของกระทรวงมหาดไทย

การเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3985

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดามีความตั้งใจในการที่จะให้ลูกกินนมแม่แล้ว นอกจากการเตรียมใจคือ ต้องมีความตั้งใจหรือมุ่งมั่นที่จะให้ลูกได้กินนมแม่โดยเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่มีต่อทารกและตัวมารดาเองแล้ว การเตรียมความพร้อมในเรื่องความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้นมลูก ซึ่งมารดาสามารถรับข้อมูลเหล่านี้ได้ขณะที่ทำการฝากครรภ์ ซึ่งในโรงพยาบาลมักจัดการให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวในระหว่างการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คลินิกฝากครรภ์ โดยประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือ มารดาควรเลือกที่จะฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก เนื่องจากจะมีนโยบาย และการบริหารจัดการที่เอื้อในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เมื่อมารดาไปฝากครรภ์ จะมีการตรวจเต้านม สอนและอธิบายถึงความสำคัญและประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่ มารดาควรแจ้งแผนหรือความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันวางแผนให้มารดาสามารถปฏิบัติตามที่ตั้งใจหรือวางแผนไว้ได้ มารดาควรเข้าร่วมโปรแกรมการจัดการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โรงพยาบาลจัดไว้ นอกจากนี้หากโรงพยาบาลมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉพาะ หรือมีคลินิกนมแม่ มารดาอาจไปขอคำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม และเมื่อเข้าสู่ระยะของการคลอด มารดาควรแจ้งว่าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก ก็คือภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อการสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกได้ตามต้องการ