คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การป้อนนมผงหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยทั่วไปวิธีการคลอดบุตรจะมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน การผ่าตัดคลอดมักทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้าและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หากมีการเอาใจใส่ให้มารดาที่ผ่าตัดคลอดสามารถเริ่มนมแม่ได้เร็วใกล้เคียงกับมารดาที่คลอดบุตรทางช่องคลอด อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน อุปสรรคอีกอย่างที่พบว่ามีความสำคัญต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ การให้ลูกกินนมผงตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด สิ่งนี้ส่งผลในการลดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น นโยบายการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องน่าจะมีบทบาทในการปกป้องและป้องกันการให้นมผงแก่ทารกในระยะแรกหลังคลอดได้ ซึ่งโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ก็จะมีโอกาสที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Kiani SN, Rich KM, Herkert D, Safon C, Perez-Escamilla R. Delivery mode and breastfeeding outcomes among new mothers in Nicaragua. Matern Child Nutr 2018;14.

แม่เครียดเริ่มการเลี้ยงลูกและให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความเครียดมีผลต่อการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างของมารดารวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม่ที่มีความเครียดมากมักมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม มีการศึกษาถึงภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดแก่มารดาในช่วงหนึ่งปีก่อนการคลอดบุตรและติดตามผลว่ามีผลกระทบต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งผลทำให้หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังคลอดหรือไม่ พบว่า มารดาที่มีปัจจัยใหญ่อย่างน้อยหนึ่งอย่างในช่วงหนึ่งปีก่อนการคลอดบุตรจะมีผลทำให้การเริ่มการให้ลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดน้อยลง และเมื่อติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่หนึ่งเดือนพบว่า มารดาที่มีความเครียดดังกล่าวหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ามารดาที่ไม่มีความเครียด1 การที่บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ในการคัดกรองความเสี่ยงของมารดาที่จะหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร โดยให้ความสนใจและใส่ใจในมารดากลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมให้มารดาสามารถยังคงให้นมแม่ต่อเนื่องไปได้ตามระยะเวลาที่ควรเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kitsantas P, Gaffney KF, Nirmalraj L, Sari M. The influence of maternal life stressors on breastfeeding outcomes: a US population-based study. J Matern Fetal Neonatal Med 2018:1-5.

 

 

ทารกที่กินนมแม่ลดความเสี่ยงต่อการถูกทิ้งหรือการล่วงละเมิดทางเพศ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ทารกที่กินนมแม่จากเต้าหากได้เริ่มต้นตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดและให้นมแม่เป็นเวลานานจะมีความผูกพันระหว่างมารดากับทารกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลไกของความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะผ่านการทำงานของฮอร์โมนหลักคือ ออกซิโทซิน ที่ถูกเรียกว่าเป็น ?ฮอร์โมนแห่งความรัก? มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการเลี้ยงดูทารกที่ไม่ดีพบว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสถูกทอดทิ้งน้อยกว่าร้อยละ 46 และเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าร้อยละ 531 สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ตอกย้ำถึงผลของความรักความผูกพันที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการกินนมแม่ ทำให้เกิดการดูแลเอาใจใส่ทารก รักและใส่ใจ ทะนุถนอม จนมีผลในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเลี้ยงดูทารกไม่ดี เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งและล่วงละเมิดทางเพศได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kremer KP, Kremer TR. Breastfeeding Is Associated with Decreased Childhood Maltreatment. Breastfeed Med 2018;13:18-22.

 

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ กระตุ้นการพัฒนาการของทารกผ่านระบบสัมผัสของมารดา ช่วยให้ทารกรู้สึกสงบ ปลอดภัย อบอุ่น ป้องกันอาการตัวเย็นของทารก ช่วยป้องกันการเกิดอาการน้ำตาลต่ำจากการตื่นตระหนกของทารก ทำให้มีการใช้พลังงานมากส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ นอกจากนี้ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกมารดาหลังคลอดทันทียังช่วยในกระบวนการการปรับตัวของทารกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกและมีความพร้อมที่จะคืบคลานเข้าหาเต้านมมารดา เพื่อการเริ่มต้นการดูดกินนมแม่1 ซึ่งการเริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น ส่งผลต่ออัตราการลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น สถานพยาบาลควรมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมหรือทำให้เกิดการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดทันทีและควรให้เวลากับกระบวนการนี้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงเพื่อการกระตุ้นกระบวนการดังกล่าวเหล่านี้จะกระทำได้สมบูรณ์และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เอกสารอ้างอิง

  1. Lau Y, Tha PH, Ho-Lim SST, et al. An analysis of the effects of intrapartum factors, neonatal characteristics, and skin-to-skin contact on early breastfeeding initiation. Matern Child Nutr 2018;14.

 

การจัดรูปแบบการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกที่คลอดก่อนกำหนดถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยทำให้มีความยากลำบากในการที่จะให้นมแม่แก่ทารก ความยากลำบากนี้มักขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ โดยหากทารกคลอดก่อนกำหนดมาก การพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการดูดและกินนมแม่อาจยังไม่สมบูรณ์ การเชื่อมโยงของระบบประสาทและฮอร์โมนอาจจะยังไม่ดีด้วย ดังนั้น การที่จะช่วยให้ทารกได้กินนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจึงต้องมีกระบวนการการวางแผนที่เฉพาะสำหรับคู่มารดาและทารกแต่ละคู่ที่มีความพร้อมในการกินนมแม่จากเต้าที่แตกต่างกัน1 รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่น ๆ ของทารกที่อาจทำให้ทารกบางคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งการวางแผนการให้นมแม่อาจเริ่มต้นด้วยการเพียงแต่มีการป้ายปากทารกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จนกระทั่งทารกเริ่มกินได้ อาจจะมีการป้อนนมด้วยถ้วยก่อนจนทารกมีความพร้อมที่จะกินนมได้จากเต้าของมารดาโดยตรง ซึ่งการวางแผนในการให้นมแม่แก่ทารกควรมีการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวให้มีความเข้าใจเพื่อจะได้ให้ความร่วมมือในการที่จะช่วยให้ทารกกินนมแม่ได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Lau C. Breastfeeding Challenges and the Preterm Mother-Infant Dyad: A Conceptual Model. Breastfeed Med 2018;13:8-17.