คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การรักษาหัวนมแตกและเจ็บระหว่างการให้นมลูกด้วยการใช้น้ำนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในระยะหลังคลอดในสัปดาห์แรก ซึ่งสาเหตุหลักที่สำคัญที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การจัดท่าให้นมแม่ที่ไม่เหมาะสม โดยเริ่มแรกจะทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมและหากไม่ได้รับการดูแล แนะนำหรือการแก้ไขที่เหมาะสม จากการเจ็บหัวนมก็จะเกิดหัวนมแตก และเมื่อหัวนมแตกเป็นแผล โอกาสที่เชื้อโรคจากผิวหนังจะผ่านเข้าสู่แผลที่หัวนมจนเกิดภาวะเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมก็เป็นสิ่งที่เกิดตามมาได้ ดังนั้น การดูแลที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาการเจ็บหัวนมให้เหมาะสม และหากเกิดหัวนมแตก การดูแลและรักษาหัวนมแตกตั้งแต่ระยะแรกอย่างถูกต้องก็จะเป็นการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ มีการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการรักษาหัวนมแตกหรือบาดเจ็บเป็นแผลด้วยวิธีการใช้การทาหัวนมด้วยนมแม่และให้มารดาใส่ประทุมแก้วเทียบกับการทาหัวนมด้วยลาโนลิน (lanolin) พบว่าการใช้การทาหัวนมด้วยนมแม่ร่วมกับการใส่ประทุมแก้วช่วยรักษาอาการหัวนมแตกหรือบาดเจ็บได้ดีกว่าการทาหัวนมด้วยลาโนลิน1 ดังนั้น จะให้ว่า นมแม่นอกจากมีภูมิคุ้มกันให้กับทารกแล้ว ยังสามารถใช้เป็นยารักษาหัวนมแตกหรือบาดเจ็บให้แก่มารดาได้เป็นอย่างดีด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Vieira F, Mota D, Castral TC, Guimaraes JV, Salge AKM, Bachion MM. Effects of Anhydrous Lanolin versus Breast Milk Combined with a Breast Shell for the Treatment of Nipple Trauma and Pain During Breastfeeding: A Randomized Clinical Trial. J Midwifery Womens Health 2017.

ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มสัญชาตญาณความเป็นแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สัญชาตญาณความเป็นแม่ แม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็มีปัจจัยที่จะส่งเสริมหรือเพิ่มพูนสัญชาตญาณของแม่ ซึ่งพบว่า ระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งนานก็จะยิ่งเพิ่มสัญชาตญาณของความเป็นแม่มากขึ้น รวมทั้งสร้างความรัก ความผูกพัน การใส่ใจที่จะดูแลเอาใจใส่ในความปลอดภัยของลูกมากขึ้น1 โดยสิ่งนี้เรียกว่าเป็นจุดเด่นของสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หากมารดามีสัญชาตญาณความเป็นแม่สูง ความผูกพัน และการเอาใจใส่ที่จะช่วยให้ลูกมีโอกาสที่จะอยู่รอดปลอดภัยสูงขึ้น สามารถที่จะดำรงเผ่าพันธุ์และมีการพัฒนาการและวิวัฒนาการต่อไปได้

? ? ? ? ? ? อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่พบเป็นอุปสรรคในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะไปมีผลต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา ได้แก่ การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า การผ่าตัดคลอด เป็นต้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเสมือนตัวแทนที่จะช่วยชี้นำบทบาทที่สำคัญของมารดาที่จะต้องให้นมแม่ และก็ให้นมแม่ให้ยาวนานที่สุด โดยอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสองปีตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยจึงมีความจำเป็น และควรใส่ใจในเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมสัญชาตญาณของแม่ที่เป็นสิ่งที่ดี ให้มี คงอยู่ และเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver JM, Schofield TJ, Papp LM. Breastfeeding Duration Predicts Greater Maternal Sensitivity Over the Next Decade. Dev Psychol 2017.

 

ความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้ว่าส่วนมากของมารดามักจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร แต่ในบางสถานการณ์ก็ยังมีความจำเป็นต้องมีการใช้ยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อความวิตกกังวลของมารดาและบางครั้งทำให้มารดาต้องหยุดให้นมบุตรโดยไม่จำเป็นเนื่องจากการขาดความรู้ สำหรับผู้ที่จะเป็นที่พึ่งในการขอคำปรึกษาเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยา ได้แก่ บุคลากรทางสาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร และแพทย์ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรทางสาธารณสุขยังมีความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรต่ำ และความรู้เรื่องการใช้ยาของบุคลากรที่เป็นพยาบาลต่ำกว่าบุคลากรที่เป็นแพทย์1 ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การที่บุคลากรทางสาธารณสุขจะให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรจะมีความจำกัดและขาดความมั่นใจ การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดระบบการเรียนรู้ รวมถึงเข้าถึงสื่อความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร จึงควรมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะให้ความรู้และให้คำปรึกษาในเรื่องการเลือกใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรให้มารดาสามารถปฏิบัติและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Al-Sawalha NA, Sawalha A, Tahaineh L, Almomani B, Al-Keilani M. Healthcare providers’ attitude and knowledge regarding medication use in breastfeeding women: a Jordanian national questionnaire study. J Obstet Gynaecol 2017:1-5.

การตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือใช้นมผง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาคนหนึ่งจะตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง โดยปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของมารดาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ประเด็นสำคัญในการตัดสินใจว่าจะให้ลูกกินนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผงก็คือ ความคาดหวังของสังคมและความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้กับมารดา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรู้ และทักษะการปฏิบัติ ร่วมกับเปิดช่องทางที่สะดวกที่จะให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันสร้างค่านิยมทางสังคมที่เหมาะสมในการให้ลูกกินนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wennberg AL, Jonsson S, Zadik Janke J, Hornsten A. Online Perceptions of Mothers About Breastfeeding and Introducing Formula: Qualitative Study. JMIR Public Health Surveill 2017;3:e88.

 

นมแม่อาจช่วยป้องกันกลุ่มโรคเมตาบอลิก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? กลุ่มโรคเมตาบอลิก หรือ metabolic syndrome ได้แก่ โรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาญอาหารให้เป็นพลังงาน โดยโรคในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต หากไม่มีการดูแลเรื่องพฤติกรรมการกินที่ดีและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีการศึกษาเรื่องอาหารในวัยเริ่มต้นของชีวิตก็คือ นมแม่ พบว่ามีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้1 เมื่อมีข้อมูลที่น่าเชื่อว่าจะป้องกันกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้ การรณรงค์ให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นก็ควรส่งเสริม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในกลุ่มโรคเมตาบอลิก ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและน่าจะช่วยยืดอายุขัยของคนในสังคมให้ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wisnieski L, Kerver J, Holzman C, Todem D, Margerison-Zilko C. Breastfeeding and Risk of Metabolic Syndrome in Children and Adolescents: A Systematic Review. J Hum Lact 2017:890334417737038.