คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมที่มีรายได้ปานกลาง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสังคมที่มีรายได้ปานกลาง การให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังต้องคำนึงถึงความร่วมมือที่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาต้องกลับไปทำงาน นโยบายที่จะสนับสนุนให้มารดาสามารถลาคลอดได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นโยบายการให้ลูกได้กินนมแม่ขณะพักที่ทำงาน หรือมีเวลาที่จะปั๊มหรือบีบเก็บน้ำนม การสนับสนุนมุมนมแม่หรือสถานที่ที่เหมาะสมในการบีบเก็บน้ำนมของมารดารวมทั้งอุปกรณ์ขณะที่อยู่ที่ทำงาน1ดังนั้น การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจรวมทั้งรายได้ของประชากรจึงส่งผลต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแน่นอนหากครอบครัวของมารดามีรายได้ปานกลางในสังคมที่มีการแข่งขันอย่างมากในตลาดการค้าเสรี การออกนโยบายที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพของประชากรคือ การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกับการสื่อสารรณรงค์ในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ตที่จะช่วยสร้างการขับเคลื่อนของการสร้างคนโดยพื้นฐานของการเพิ่มโอกาสการได้กินนมแม่ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทัดเทียมนานาประเทศ

เอกสารอ้างอิง

  1. Wainaina CW, Wanjohi M, Wekesah F, Woolhead G, Kimani-Murage E. Exploring the Experiences of Middle Income Mothers in Practicing Exclusive Breastfeeding in Nairobi, Kenya. Matern Child Health J 2018.

 

 

 

 

เศรษฐานะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การอาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีเศรษฐานะที่แตกต่างกันมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่มารดาที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีรายได้น้อยจะมีอัตรากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่า ขณะที่มารดาที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีเศรษฐานะมั่งคั่งจะมีโอกาสที่จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่า1 สิ่งนี้อาจเกิดจากการที่มีเศรษฐานะดี การศึกษาก็มักจะดี และมักจะมีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า และสามารถให้นมแม่ไปได้ยาวนานกว่า เนื่องจากการกลับไปทำงาน ไม่มีความรีบร้อน ลาพักได้ตามข้อกำหนด ไม่มีความกังวลในเรื่องรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่า จะเป็นปัญหา ดังนั้น การพัฒนาพื้นฐานการศึกษาและลดปัญหาเรื่องความยากจนจึงเป็นส่วนหนึ่งในพื้นฐานที่จะช่วยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Yourkavitch J, Kane JB, Miles G. Neighborhood Disadvantage and Neighborhood Affluence: Associations with Breastfeeding Practices in Urban Areas. Matern Child Health J 2018.

 

การขาดความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์กับครอบครัวในการส่งเสริมการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อุปสรรคที่มีต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจแบ่งได้หลายแบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยหากแบ่งเป็นอุปสรรคจากตัวบุคคล ได้แก่ ความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้การสนับสนุนและส่งเสริมการให้นมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์ คนในครอบครัว และคนในสังคม อุปสรรคจากระบบการบริการ ได้แก่ การขาดความร่วมมือกันอย่างเพียงพอในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การมีข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงานหรือองค์กร และการจัดบริการการดูแลการคลอดและระบบหลังคลอดที่ไม่เหมาะสม อุปสรรคทางอ้อม ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยมที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ พบว่า อุปสรรคที่สำคัญที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ การขาดความร่วมมือกันอย่างเพียงพอระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัวที่จะช่วยเหลือกันในการที่จะให้ทารกได้กินนมแม่1 ดังนั้น การที่จะแก้ไขหรือทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัวต้องมีการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดว่า จุดใดที่เป็นจุดที่สำคัญที่เป็นประเด็นที่จะส่งผลต่อความร่วมมือ เช่น จำนวนที่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการให้คำปรึกษา การกำหนดให้การให้บริการการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นภาระงาน มีค่าตอบแทนการให้บริการที่เหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่เหล่านี้ได้มีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน เมื่อทราบถึงและมีความร่วมมือกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลที่ดีต่ออนาคตที่จะเอื้อให้มารดาฝ่าฟันอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anstey EH, Coulter M, Jevitt CM, et al. Lactation Consultants’ Perceived Barriers to Providing Professional Breastfeeding Support. J Hum Lact 2018;34:51-67.

 

การให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องการให้นมลูกแก่พ่อและแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาจะเลี้ยงดูบุตรด้วยการให้นมแม่ระบวนการให้คำปรึกษานั้น ควรให้ความสำคัญแก่ทั้งพ่อและแม่ การเริ่มต้นตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ การแจกแผ่นพับหรือเอกสารความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ การเปิดโอกาสที่ทั้งพ่อและแม่ได้ซักถามข้อสงสัยในระหว่างที่ฝึกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะอยู่ในโรงพยาบาล การติดตามช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเมื่อพ่อและแม่กลับไปดูแลทารกที่บ้านด้วยตนเองแล้ว กระบวนการเหล่านี้ หากมีการจัดให้เป็นระบบ และเอื้อให้มารดาสามารถได้รับการให้บริการได้อย่างทั่วถึง จะมีส่วนช่วยตั้งแต่อัตราการเริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาควรคำนึงถึงบุคคลที่อยู่ในครอบครัวที่จะมีบทบาทและอิทธิพลที่ส่งผลต่อการให้นมลูกด้วยโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ลักษณะครอบครัวที่อยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ได้แก่ ปู่ย่าตายายและพี่น้องที่อยู่ในบ้านเดียวกัน และมีส่วนในการให้การดูแลทารก หากสามารถให้บุคคลเหล่านี้ได้เข้าร่วมการรับฟังการให้คำปรึกษาและมีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วก็จะมีส่วนช่วยในกระบวนการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbass-Dick J, Dennis CL. Maternal and paternal experiences and satisfaction with a co-parenting breastfeeding support intervention in Canada. Midwifery 2018;56:135-41.

เหตุผลที่มารดาหยุดให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ตามธรรมดาแล้วหลังคลอด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ มารดาควรให้นมแม่แก่บุตร อย่างไรก็ตาม ความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเข้าอบรมในการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงสะท้อนถึงความสนใจ ใส่ใจ และตั้งใจที่จะให้ลูกได้กินนมแม่ สำหรับปัจจัยที่ตัดสินใจหยุดให้นมลูก มักได้แก่ น้ำนมน้อยไม่เพียงพอ การเจ็บเต้านมและหัวนม เต้านมอักเสบ และการกลับไปทำงานของมารดา1,2 ซึ่งคล้ายคลึงกันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย การรณรงค์จึงต้องมีการร่วมมือของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและร่วมกันช่วยแก้ไขหรือช่วยเหลือมารดาในแต่ละช่วงเวลาของการให้นมลูก บุคลากรทางการแพทย์จึงควรทำความเข้าใจกับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Sun K, Chen M, Yin Y, Wu L, Gao L. Why Chinese mothers stop breastfeeding: Mothers’ self-reported reasons for stopping during the first six months. J Child Health Care 2017;21:353-63.
  2. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.