คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดในมารดาที่ให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาที่มีความตั้งแต่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหกเดือนแรก หากมารดาสามารถให้นมแม่ได้อย่างเดียวและให้นมแม่ได้บ่อยและสม่ำเสมอ 8 ครั้งต่อวัน การปฏิบัติได้ดังนี้ถือเป็นการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้สามารถใช้ได้ หากมารดาปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดข้างต้น อย่างไรก็ตาม มารดาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องนี้และขาดความมั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดที่จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการคุมกำเนิดที่เรียกว่า การคุมกำเนิดด้วยการให้นมแม่ในระยะหลังคลอดที่มารดายังไม่มีประจำเดือน (Lactation amenorrhea method) เมื่อมารดาขาดความมั่นใจ การให้การคุมกำเนิดเสริมด้วยวิธีอื่น ๆ จึงมีบทบาทเพิ่มขึ้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกินเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ง่ายและมารดามักมีความคุ้นเคยกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่แล้ว แต่หากมารดามีน้ำนมน้อยหรือไม่เพียงพอ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจส่งผลเสียต่อการลดปริมาณน้ำนมได้ หากเริ่มการกินยาเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ดังนั้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกินที่แนะนำสำหรับมารดาที่ให้นมบุตรที่มีขายอยู่ในประเทศไทยจะมีสองชนิดที่มีชื่อการค้า ได้แก่ Exluton และ Cerazette ทั้งสองชนิดนี้จะมีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ใม่ส่งผลเสียต่อการลดปริมาณน้ำนมจึงแนะนำให้ใช้ได้ในระยะหลังคลอด และมักพบว่ามีการใช้ในระยะหลังคลอดในระยะแรกมากกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม1

เอกสารอ้างอิง

  1. Goulding AN, Wouk K, Stuebe AM. Contraception and Breastfeeding at 4 Months Postpartum Among Women Intending to Breastfeed. Breastfeed Med 2018;13:75-80.

ระบบพี่เลี้ยงนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ (breastfeeding peer support) เป็นระบบที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และได้รับคำแนะนำให้มีการจัดการให้บริการโดยองค์การอนามัยโลก1 อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ จำนวนและการกระจายของการให้บริการระบบพี่เลี้ยงนมแม่นั้น มารดายังไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับการให้บริการได้แม้ในประเทศทางยุโรปเช่น ประเทศอังกฤษ สำหรับในประเทศไทยมีความขาดแคลนทั้งบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และระบบที่จะจัดการให้บริการในลักษณะพี่เลี้ยงนมแม่ ดังนั้นเมื่อมีทั้งความขาดแคลนของตัวบุคลากรและขาดระบบ การที่จะสร้างให้เกิดกระบวนการการสนับสนุนในระบบพี่เลี้ยงนมแม่ได้จึงจำเป็นต้องทำทั้งสองด้าน คือ ต้องมีการพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงที่มีมาตรฐาน และต้องมีนโยบายสนับสนุนการสร้างให้เกิดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถที่จะให้บริการโดยมีความเพียงพอและมารดาสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สิ่งเหล่านี้ต้องการการเริ่มต้นหรือผลักดันโดยหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบหรือมีความเกี่ยวข้อง และต้องการการสนับสนุนของหน่วยงานภาคการศึกษาที่จะช่วยในการพัฒนาคน และการสร้างบันไดอาชีพให้บุคลากรเหล่านี้สามารถทำงานได้โดยมีความเจริญก้าวหน้าและดำรงการทำงานอยู่ได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการระบบการให้บริการ ซึ่งหากสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังมีอัตราที่ต่ำอยู่ให้สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Grant A, McEwan K, Tedstone S, et al. Availability of breastfeeding peer support in the United Kingdom: A cross-sectional study. Matern Child Nutr 2018;14.

 

รูปแบบการกินกำหนดสัดส่วนลักษณะร่างกายทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความอ้วนหรือความผอมมีผลมาจากสัดส่วนของร่างกายของคนซึ่งมีรากฐานมาจากพันธุกรรมคือมารดา บิดาและลักษณะการกินของบุคคลคนนั้น มีการศึกษาพบว่าในส่วนของลักษณะการกินได้รับการตั้งโปรแกรมรูปแบบการกินตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิต1 โดยทารกที่กินนมแม่ทั้งปริมาณและจำนวนครั้งของการกินนมแม่ต่อวันจะสัมพันธ์กับสัดส่วนลักษณะของทารกในลักษณะที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประโยชน์ของนมแม่ที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น การตั้งโปรแกรมรูปแบบการกินตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิตของทารกนั้นได้ส่งผลในระยะยาวต่อสัดส่วนลักษณะของร่างกาย ปริมาณของชั้นไขมันเมื่อเทียบกับชั้นกล้ามเนื้อเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดโรคต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาญสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายที่เรียกว่ากลุ่มโรคทางเมตาบอลิกที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต และมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็ง สาเหตุของโรคเหล่านี้เมื่อเราทราบต้นกำเนิดที่มีผลมาจากรูปแบบการกินที่มีการตั้งโปรแกรมไว้ตั้งแต่ในระยะแรกของชีวิต ดังนั้น การที่จะป้องกันลักษณะรูปแบบการกินที่ไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่มองเห็นว่าเป็นสิ่งพื้นฐานและทำได้โดยง่ายคือ การเริ่มให้ทารกได้กินนมแม่อย่างน้อยตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Gridneva Z, Rea A, Hepworth AR, et al. Relationships between Breastfeeding Patterns and Maternal and Infant Body Composition over the First 12 Months of Lactation. Nutrients 2018;10.

 

นโยบายที่ชัดเจนส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นโยบายในการปฏิบัติงานต่าง ๆ มีความสำคัญ เนื่องจากจะทำให้เกิดแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว การเผยแพร่ให้ทราบถึงนโยบายยังส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวให้มีความตื่นตัวและมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามนโยบายเพื่อผลสำเร็จ มีการศึกษาถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า หากต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่ที่จะให้การดูแลการคลอดและการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และองค์กรภาคเอกชนที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงาน การกำหนดนโยบายต่อภาคสังคมให้มีความเข้าใจ ตระหนักและทราบถึงประโยชน์และความจำเป็นในการที่จะให้ลูกได้กันนมแม่ โดยการมีนโยบายต่อภาคสังคมนั้นรวมถึงกระบวนการที่จะสื่อสารต่อสังคมโดยผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ คือ สื่อทีวี วิทยุ และอินเตอร์เน็ต จะช่วยให้การเข้าถึงของคนที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการรับทราบทำได้ดีขึ้น ดังนั้น การเลือกสรรสื่อสาธารณะที่ตรงกับจริตของผู้รับสารจะทำให้เกิดการเข้าถึงและนำสู่เป้าหมายของการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งมารดา ทารก และสังคมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Gurley-Calvez T, Bullinger L, Kapinos KA. Effect of the Affordable Care Act on Breastfeeding Outcomes. Am J Public Health 2018;108:277-83.

การให้นมทารกเพียงพอป้องกันทารกตัวเหลือง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สาเหตุของภาวะตัวเหลืองที่พบบ่อยในทารกคือ การกินนมไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการกำจัดสารเหลืองที่มากับการขับถ่ายทำได้น้อยลง จึงมีโอกาสเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น การให้ทารกกินนมบ่อยครั้งขึ้นสัมพันธ์กับการที่ทารกกินนมได้มากขึ้น ขับถ่ายสารเหลืองได้เพิ่มขึ้น จึงป้องกันและลดอาการตัวเหลืองได้ มีการศึกษาพบว่าหากให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่ 8 ครั้งต่อวันขึ้นไปจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะตัวเหลืองน้อยกว่าทารกที่กินนมแม่น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน1,2 ดังนั้น การสื่อสารให้มารดามีความเข้าใจถึงความสำคัญของการให้นมแม่อย่างเพียงพอว่าช่วยป้องกันทารกตัวเหลืองได้ และกระตุ้นให้มารดาให้นมทารกอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน จะช่วยป้องกันและลดภาวะตัวเหลืองในทารกที่นอกเหนือจากการลดความวิตกกังวลของมารดาที่พบว่าทารกมีภาวะตัวเหลืองแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจำนวนมากที่ต้องใช้ในการให้การดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Hassan B, Zakerihamidi M. The correlation between frequency and duration of breastfeeding and the severity of neonatal hyperbilirubinemia. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:457-63.
  2. Ketsuwan S, Baiya N, Maelhacharoenporn K, Puapornpong P. The association of breastfeeding practices with neonatal jaundice J Med Assoc Thai 2016;99(suppl.8):s36-42.