คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การใช้กัญชาในระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกน้ำหนักตัวน้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? กัญชาเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ทั้งกด กระตุ้น และหลอนประสาท แต่ในปัจจุบันเกิดกระแสที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ซึ่งผลที่ได้รับการรับรองที่ใช้ทางด้านการแพทย์คือ การลดอาการปวดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับการใช้การทางแพทย์ในกรณีอื่น ๆ ควรรอการศึกษาวิจัยให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนการนำมาใช้ โดยเฉพาะในประเทศไทย การใช้กัญชายังถือเป็นการเสพยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการออกข่าวเตือนถึง ธุรกิจกัญชาในตลาดมืดที่มีการโฆษณาคุณสมบัติในการรักษาโรคเกินจริง ผู้บริโภคที่นำไปใช้อาจเกิดอันตรายจากการใช้หรือมีการเสพติดยาได้ ในมารดาที่มีการใช้กัญชาในระหว่างการตั้งครรภ์พบว่าเกิดผลเสียคือทำให้ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย1 อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดและเพิ่มโอกาสที่ทารกแรกเกิดต้องย้ายเข้าสู่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต สำหรับการใช้กัญชาในระหว่างให้นมบุตรจะเกิดผลเสียต่อทารกได้เนื่องจากกัญชาผ่านสู่น้ำนมไปสู่ทารก โดยอาจพบทารกง่วงซึม ไม่สนใจกินนม และลดระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Crume TL, Juhl AL, Brooks-Russell A, Hall KE, Wymore E, Borgelt LM. Cannabis Use During the Perinatal Period in a State With Legalized Recreational and Medical Marijuana: The Association Between Maternal Characteristics, Breastfeeding Patterns, and Neonatal Outcomes. J Pediatr 2018;197:90-6.

 

การเยี่ยมบ้านหลังคลอดช่วยให้แม่ให้นมลูกอย่างเดียวเพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การติดตามเยี่ยมมารดาหลังคลอดนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ทั้งในเรื่องการดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดและในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยทั่วไปหากโรงพยาบาลมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการติดตามเยี่ยมบ้าน ควรมีการประสานงานจากหน่วยงานห้องคลอดหรือหอผู้ป่วยหลังคลอดเพื่อให้มีการติดตามการเยี่ยมบ้านหลังคลอดเมื่อมารดาได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งหากสามารถทำได้ การติดตามการเยี่ยมบ้านควรทำในครั้งแรกในหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากจะสามารถให้คำปรึกษาหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่มารดาได้พบเมื่อมารดากลับไปอยู่ที่บ้านที่มีสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจากขณะที่อยู่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม บางโรงพยาบาลอาจขาดหน่วยงานที่ทำการเยี่ยมบ้าน ควรจัดระบบให้มีการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้เกิดกลไกการเยี่ยมบ้านโดยหน่วยงานที่อยู่ในชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งจะทำหน้าที่เยี่ยมบ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการเยี่ยมบ้านหลังคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว พบว่า การเยี่ยมบ้านหลังคลอดช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 2.2 เท่า1 ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรให้ความสำคัญกับกลไกการเยี่ยมบ้านโดยจัดกระบวนการให้เกิดระบบที่มีการส่งต่อข้อมูลที่ดี เพื่อให้คุณประโยชน์นี้เกิดแก่มารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Carvalho M, Carvalho MF, Santos CRD, Santos PTF. First Postpartum Home Visit: A Protective Strategy for Exclusive Breastfeeding. Rev Paul Pediatr 2018;36:8.

 

การผ่าตัดเสริมเต้านมมีผลเสียต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ค่านิยมในปัจจุบันจะมีค่านิยมที่ต้องการให้เต้านมมีขนาดใหญ่ ทำให้มีการศัลยกรรมเสริมขนาดของเต้านมเพิ่มขึ้น การผ่าตัดเสริมเต้านมนี้จะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากระหว่างการผ่าตัดอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและทำลายท่อน้ำนมที่เป็นส่วนที่จำเป็นในการลำเลียงน้ำนมจากต่อมน้ำนมมาที่หัวนมหรือในกรณีที่หากมีการผ่าตัดบริเวณขอบของลานนม โอกาสที่จะเกิดการทำลายท่อน้ำนมจะยิ่งมาก ดังนั้นในมารดาที่มีการผ่าตัดศัลยกรรมเต้านมจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวแม้ว่าในมารดาที่มีความต้องการที่จะให้ลูกกินนมแม่ก็ตาม1 แพทย์ผู้ทำการศัลยกรรมเต้านมควรจะมีการให้ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้แก่สตรีที่มาปรึกษาเรื่องการผ่าตัด เพราะจะทำให้สตรีได้มีโอกาสทบทวนถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ในการทำศัลยกรรมเต้านมอีกครั้งหนึ่งก่อนการตัดสินใจทำผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. Camargo JF, Modenesi TSS, Brandao MAG, Cabral IE, Pontes MB, Primo CC. Breastfeeding experience of women after mammoplasty. Rev Esc Enferm USP 2018;52:e03350.

การหยุดนมแม่เร็วเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ปัจจุบันโรคออทิสติกพบมากขึ้น ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมหรือสภาพสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ลักษณะหรืออาหารการกินที่มีการเปลี่ยนแปลง ล้วนมีผลกระทบต่อกลุ่มอาการออทิสติก มีการศึกษาพบว่า การใช้ยาแก้ปวด การใช้ยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อที่หู และการหยุดให้นมแม่เร็วเพิ่มความเสี่ยงในทารกที่จะเกิดกลุ่มอาการออทิสติก1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในระยะหลังคลอดโดยไม่จำเป็น ระมัดระวังอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อที่หู และสนับสนุนให้แม่ให้นมลูกตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้น ให้ทารกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนครบสองปีหรือตามความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งก่อนการให้การดูแลรักษา ควรมีการให้ข้อมูลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มี เพื่อให้มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยความเต็มใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Bittker SS, Bell KR. Acetaminophen, antibiotics, ear infection, breastfeeding, vitamin D drops, and autism: an epidemiological study. Neuropsychiatr Dis Treat 2018;14:1399-414.

 

 

ความไม่พอใจในรูปร่างตนเองทำให้แม่ให้นมลูกลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ปัจจุบันความวิตกกังวลหรือไม่พึงพอใจในรูปร่างตนเองมีสตรีในสังคมไทยมีเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากธุรกิจศัลยกรรมความงามเฟื่องฟูขึ้นทั้งในประเทศไทยและเกาหลีที่คนไทยนิยมเดินทางไปทำศัลยกรรม สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะมีผลเสียต่อการให้นมลูก โดยอาจส่งผลให้น้ำนมแม่มาช้าหรือมีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้แม่เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าทางอ้อม ความไม่พอใจในรูปร่างตนเองเมื่อเทียบกับมารดาที่อ้วนแล้ว ความไม่พอใจในรูปร่างตนเองส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ามารดาที่อ้วน (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในมารดาที่ไม่พอใจในรูปร่างตนเองร้อยละ 42 ขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในมารดาที่อ้วนลดลงร้อยละ 35)1 ดังนั้นนอกจากการให้คำแนะนำให้สตรีที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ให้ควบคุมน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว ยังต้องแนะนำเรื่องความพึงพอใจในรูปร่างตนเอง ซึ่งมารดาควรยึดหลักความพึงพอใจในสิ่งที่ตนใจมีอยู่ตามหลักพุทธศาสนาและหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

เอกสารอ้างอิง

  1. Bigman G, Wilkinson AV, Homedes N, Perez A. Body Image Dissatisfaction, Obesity and Their Associations with Breastfeeding in Mexican Women, a Cross-Sectional Study. Matern Child Health J 2018.