คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การได้รับยาฆ่าแมลงในระหว่างการตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการเกิดทารกออทิสติก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกที่มีภาวะออทิสติกในปัจจุบันพบมากขึ้น แม้การเกิดภาวะออทิสติกจะมีสาเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัญหาเรื่องการใช้สารพิษที่พบในสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยมีการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงในระหว่างการตั้งครรภ์จะพบว่าทารกที่คลอดออกมามีภาวะออทิสติกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากร รัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพ ควรวางระบบหรือออกกฎหมายให้มีการควบคุมการใช้สารเหล่านี้อย่างจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ให้มากที่สุด สำหรับในด้านการให้ความรู้แก่ประชาชนหรือสังคมให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่อุดมปัญญาและคนในสังคมมีความสามารถในการพิจารณาเลือกใช้สารต่าง ๆ ที่จะเกิดผลเสียแก่มารดาหรือครอบครัวได้ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยยกระดับฐานความรู้ของสังคม ซึ่งจะมีผลช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมอื่นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Brown AS, Cheslack-Postava K, Rantakokko P, et al. Association of Maternal Insecticide Levels With Autism in Offspring From a National Birth Cohort. Am J Psychiatry 2018:appiajp201817101129.

 

การเจ็บหัวนม ปัญหาใหญ่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัญหาในการให้นมลูกที่พบบ่อยที่ทำให้มารดาหยุดให้นมลูกในสัปดาห์แรกคือ การเจ็บหัวนมของมารดาในการให้นมลูก ปัญหานี้หากเป็นในการเริ่มให้ลูกดูดนมแม่ใหม่ ๆ ในครั้งแรก ๆ อาจไม่ถือเป็นความผิดปกติโดยเฉพาะหากเป็นมารดาที่คลอดบุตรคนแรกและไม่เคยให้นมลูกมาก่อน แม้ว่าโดยทั่วไปในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายของมารดาจะเตรียมความพร้อมโดยการสร้างต่อมที่สร้างไขมันที่จะหลังไขออกมาเคลือบบริเวณหัวนม เพื่อลดการเสียดสีระหว่างการดูดนมของทารกหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ก็ยังการเจ็บหัวนมเป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่ปัญหานี้หากมารดามีความเข้าใจและมีการให้คำปรึกษาว่าปัญหานี้จะดีขึ้นเองใน 2-3 วันและหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์ เมื่อร่างกายมารดาปรับตัวได้ หากปัญหาการเจ็บหัวนมมีระยะยาวนานเกิน 1 สัปดาห์ ปัญหาการเจ็บหัวนมอาจเกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม ภาวะลิ้นติด น้ำนมไหลเร็วเกินไป ซึ่งควรมีการให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมเฉพาะรายตามสาเหตุ มีการศึกษาพบว่า การเจ็บหัวนมที่ยาวนานเกินสัปดาห์แรกพบได้ถึงร้อยละ 281 ?ซึ่งถือว่าพบได้บ่อยหากเทียบเคียงที่พบได้ราว 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 4 ของมารดาที่ให้นมบุตร ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรมีการเตรียมความพร้อมโดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหานี้และช่องทางที่จะติดต่อหากมารดาดูแลแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น2 เพื่อให้มารดาปราศจากความวิตกกังวลและมีความมั่นใจที่จะคงการให้นมลูกต่อไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Feenstra MM, Jorgine Kirkeby M, Thygesen M, Danbjorg DB, Kronborg H. Early breastfeeding problems: A mixed method study of mothers’ experiences. Sex Reprod Healthc 2018;16:167-74.

 

 

การสร้างความเชื่อมั่นแก่มารดาช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

?????????? ?การที่มารดามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นจะมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการให้นมแม่แก่ลูกและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปได้นาน ทำให้โอกาสที่มารดาจะให้นมลูกตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกสูงขึ้น1 ดังนั้น การให้ความสำคัญกับกระบวนการต่าง ๆ ที่จะเสริมพลังให้มารดามีความมั่นใจว่าสามารถให้นมลูกได้ จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่ดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจัดสรรให้มี ได้แก่ การให้ความรู้มารดาและครอบครัวในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอด ฝึกให้มารดามีความมั่นใจว่าสามารถให้นมแม่ได้ด้วยตนเองก่อนการอนุญาตให้มารดากลับบ้านหลังคลอด หรือในกรณีที่มารดาได้กลับบ้านก่อน ควรมีการนัดติดตามเสริมสร้างความมั่นใจให้มารดาในสัปดาห์แรกหลังคลอด หรืออาจเป็นการเสริมพลังจากการออกเยี่ยมบ้านหลังคลอด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของสถานพยาบาลและเครือข่ายที่ให้การดูแล ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนทุกฝ่ายจะส่งเสริมให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Faridvand F, Mirghafourvand M, Mohammad-Alizadeh-Charandabi S, Malakouti J. Breastfeeding performance in Iranian women. Int J Nurs Pract 2018:e12659.

 

แพทย์ประจำบ้านกับบทบาทในสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? แพทย์ประจำบ้านทางสูติศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์ล้วนมีบทบาทในเรื่องสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากในโรงพยาบาลที่มีการอบรมแพทย์ประจำบ้านนั้น แพทย์ประจำบ้านถือเป็นกลไกที่สำคัญในการดูแลมารดาและทารก แพทย์ประจำบ้านทางสูติศาสตร์เป็นผู้ที่จะพบเจอกับมารดาและครอบครัวตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ ระยะคลอด รวมถึงหลังคลอด ในขณะแพทย์ประจำบ้านทางกุมารเวชศาสตร์ดูแลทารกต่อเนื่องหลังจากนั้น ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาทนี้จึงได้มีการประเมินโดยออกข้อสอบในเรื่องการดูแลปัญหาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปีนี้ ซึ่งพบว่าแพทย์ประจำบ้านทางสูติศาสตร์ยังขาดความรู้เรื่องการดูแลปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับแพทย์ประจำบ้านทางกุมารเวชศาสตร์มีการศึกษาในประเทศแคนาดา พบว่ามีการขาดความรู้และทักษะในการดูแลปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน1 ดังนั้น การสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กินนมแม่มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Esselmont E, Moreau K, Aglipay M, Pound CM. Residents’ breastfeeding knowledge, comfort, practices, and perceptions: results of the Breastfeeding Resident Education Study (BRESt). BMC Pediatr 2018;18:170.

 

บิดากับบทบาทในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?บทบาทในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบิดานั้น มักจะมีความแตกต่างกันในแต่ละค่านิยมหรือสังคมโดยบทบาทซึ่งจะมากหรือน้อยน่าจะขึ้นอยู่กับการมีส่วนรับผิดชอบงานบ้านและการเลี้ยงดูลูก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงบทบาทของบิดากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า บทบาทของบิดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความซับซ้อนและหลากหลาย1 โดยบทบาทหลัก ได้แก่

  • บทบาทในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่
  • ช่วยรับผิดชอบในการดูแลงานบ้านหรืองานในครอบครัว
  • ช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจแก่มารดา

? ? ? ? ?จะเห็นว่า บิดามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจกับการให้คำปรึกษาบิดา มารดา และคนในครอบครัวที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากเป็นหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. deMontigny F, Gervais C, Lariviere-Bastien D, St-Arneault K. The role of fathers during breastfeeding. Midwifery 2018;58:6-12.