คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

มารดาที่อ้วนจะมีโอกาสที่จะหยุดการให้นมแม่เร็วมากกว่า

S__38208114

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???การที่มารดาอ้วน ในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่ การเกิดเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ และการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การที่มารดาได้รับการผ่าตัดคลอดมักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และจากการที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้น ระดับอินสุลินที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้เกิดการล่าช้าของการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาช้า อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มารดากังวล และนำมาซึ่งการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า หากเริ่มใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก จะทำให้ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นลง ดังนั้น การที่มารดามีภาวะอ้วนจึงเป็นความเสี่ยงสำหรับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม1,2 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและเอาใจใส่ในการติดตามมารดากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมที่จะช่วยลดปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในการจะสนับสนุนให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบหกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kair LR, Colaizy TT. When Breast Milk Alone Is Not Enough: Barriers to Breastfeeding Continuation among Overweight and Obese Mothers. J Hum Lact 2016;32:250-7.
  2. Kair LR, Colaizy TT. Obese Mothers have Lower Odds of Experiencing Pro-breastfeeding Hospital Practices than Mothers of Normal Weight: CDC Pregnancy Risk Assessment Monitoring System (PRAMS), 2004-2008. Matern Child Health J 2016;20:593-601.

การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะทำให้ระยะของเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้น

IMG_1691

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมตั้งแต่ยุคที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเทียบได้กับในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นของไทย เมื่อประเทศไทยได้มีการค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงค่านิยมการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ที่เป็นค่านิยมที่บ่งถึงฐานะของผู้ที่สามารถจะให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้ว่า ??เป็นผู้ที่มีอันจะกินหรือมีฐานะที่ร่ำรวย? ทั้งๆ ที่รากฐานของการผลิตนมผงดัดแปลงสำหรับทารกคือการพยายามเลียนแบบนมแม่ และโฆษณาว่ามีการใส่สารต่างๆ ที่มีอยู่ในนมแม่อยู่แล้วให้ผู้รับฟังข้อมูลรู้สึกว่ามีความแตกต่างกันในนมแต่ละยี่ห้อ ค่านิยมที่ผิดนี้ ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงทั่วโลก อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดสูงขึ้นจากการไม่ได้กินนมแม่ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องเสีย และการติดเชื้อทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่า เมื่อมีการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแล้ว มารดาจะหยุดให้ลูกกินนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม นั่นคือให้นมแม่ในระยะเวลาที่สั้นลง1 ดังนั้น องค์การอนามัยโลกร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนจึงร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกันการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพยายามให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมแบ่งปันข้อมูลให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวาง และสร้างวัฒนธรรมค่านิยมที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทน

เอกสารอ้างอิง

  1. Kearns AD, Castro MC, Lourenco BH, Augusto RA, Cardoso MA, Team AS. Factors Associated with Age at Breastfeeding Cessation in Amazonian Infants: Applying a Proximal-Distal Framework. Matern Child Health J 2016;20:1539-48.

การเปิดวิดีโอสอนความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

IMG_9408

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???ระหว่างการฝากครรภ์ การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็น แต่เนื่องจากบทบาทของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มีหลายหน้าที่ กระบวนการให้ความรู้แก่มารดาจึงอาจได้รับการปรับเปลี่ยนจากการให้คำปรึกษารายบุคคลเป็นการให้คำปรึกษารายกลุ่ม และรวมถึงการให้ความรู้ในรูปแบบวิดีโอ ซึ่งจะใช้แรงงานของบุคลากรที่น้อยกว่าและสามารถที่จะให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วนตามหัวข้อที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจหรือการเอาใจใส่ของมารดาอาจมีน้อยกว่าการให้คำปรึกษาที่มีการเผชิญหน้ากันและสามารถสอบถามโต้ตอบกันได้ โดยมีการศึกษาที่ให้ข้อมูลความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยสื่อวิดีโอในระยะก่อนคลอดแก่มารดา แล้วติดตามผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะที่มารดาอยู่ที่โรงพยาบาล พบว่า การให้ความรู้ด้วยสื่อวิดีโอนั้น ไม่ได้เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น แม้ความคิดเรื่องการใช้สื่อต่างๆ มาช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความน่าสนใจ แต่การที่จะทำให้สามารถที่จะมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจต้องมีการเสริมการพูดคุย ร่วมกับการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในมารดาบางรายที่มีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kellams AL, Gurka KK, Hornsby PP, et al. The Impact of a Prenatal Education Video on Rates of Breastfeeding Initiation and Exclusivity during the Newborn Hospital Stay in a Low-income Population. J Hum Lact 2016;32:152-9.

ตั้งครรภ์ลูกคนแรกเมื่ออายุมากเป็นอุปสรรคในการให้นมแม่

S__38208161

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???ในปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่ในการทำงานเพื่อหารายได้ให้แก่ครอบครัว การแต่งงานจึงเกิดขึ้นช้ากว่าในสมัยก่อน และการตั้งครรภ์แรกจึงเกิดเมื่อสตรีมีอายุมาก เป็นที่ทราบกันดีว่า การตั้งครรภ์ท้องแรกนั้นมารดายังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกันกับการตั้งครรภ์เมื่อมารดาอายุมาก ความเสี่ยงต่างๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ก็สูงขึ้น โอกาสที่จะผ่าตัดคลอดก็สูงขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การตั้งครรภ์ลูกคนแรกเมื่ออายุมากจึงเป็นอุปสรรคในการที่จะเริ่มต้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการศึกษามารดาท้องแรกที่มีอายุมากกว่า 35 ปีเมื่อเทียบกับมารดาท้องหลังที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี พบว่า มีเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยกว่าถึงเกือบ 6 เท่า (Odd ratio 5.9, 95%CI 3.0-11.9)1 ก่อนมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ดังนั้น การให้การเอาใจใส่ต่อมารดากลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องให้ความสนใจมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kitano N, Nomura K, Kido M, et al. Combined effects of maternal age and parity on successful initiation of exclusive breastfeeding. Prev Med Rep 2016;3:121-6.

การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวช่วยลดน้ำหนักหลังคลอด

IMG_1678

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ???ปัจจุบัน ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของคนในสังคมมีเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนก็ยังพบมากขึ้นด้วย ในระยะของการตั้งครรภ์โดยทั่วไปในสตรีที่มีน้ำหนักปกติ จะมีน้ำหนักขึ้นราว 10-12 กิโลกรัม แต่ค่านิยมในการบำรุงหรือให้มารดารับประทานอาหารอย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้บางคนน้ำหนักเพิ่มขึ้น 15-20 กิโลกรัม เมื่อน้ำหนักมารดาเพิ่มขึ้นมากเกิน ก็อาจนำมาซึ่งทารกที่ตัวโต คลอดยาก และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในระหว่างฝากครรภ์และคลอด โดยในระยะหลังคลอด มารดาหลังคลอดยังต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปและน้ำหนักที่เกินอยู่มาก นอกจากการระมัดระวังดูแลเรื่องอาหารการกินในระหว่างการตั้งครรภ์ให้เหมาะสมแล้ว การให้นมลูกหลังคลอดในหกเดือนแรกยังเป็นวิธีหนึ่งที่พบว่าช่วยในการลดน้ำหนักของมารดาลงได้1 ซึ่งนอกเหนือจากการให้ประโยชน์ในเรื่องสุขภาพที่ดีและความเฉลียวฉลาดแก่ทารกแล้ว ยังมีผลดีต่อสุขภาพมารดาในเรื่องอื่นๆ ด้วย สำหรับความวิตกกังวลอีกเรื่องที่พบบ่อย คือ? การให้นมแล้วเต้านมจะหย่อนยานนั้น เป็นเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง? แน่นอนการที่มารดาให้นมจะมีเต้านมที่ขยาย ตึงคัดมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจจะเป็นที่ชื่นชอบในสตรีบางคนที่เต้านมเล็ก ดูไม่มีหน้าอก เมื่อเต้านมขยายก็อาจจะใส่เสื้อผ้าได้สวยขึ้น สำหรับในสตรีที่มีเต้านมใหญ่ การใส่เสื้อชั้นในที่พยุงทรงมีความจำเป็น ความหย่อนคล้อยของเต้านมขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเต้านม การใส่เสื้อผ้าที่พยุงทรงอย่างเหมาะสม และการออกกำลังกายให้มีเนื้อเยื่อที่ตึงตัวและกระชับ ดังนั้น องค์การอนามัยจึงพยายามส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก ซึ่งสนับสนุนให้น้ำหนักมารดาลดลงกลับสู่ภาวะก่อนตั้งครรภ์ได้ดี และยังลดการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Lopez-Olmedo N, Hernandez-Cordero S, Neufeld LM, Garcia-Guerra A, Mejia-Rodriguez F, Mendez Gomez-Humaran I. The Associations of Maternal Weight Change with Breastfeeding, Diet and Physical Activity During the Postpartum Period. Matern Child Health J 2016;20:270-80.