คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ภาวะลิ้นติดของทารกส่งผลต่อความวิตกกังวลของมารดา

tongue-tie swu

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ภาวะลิ้นติดในประเทศไทยพบราวร้อยละ 13-151,2 ซึ่งในกรณีที่มีภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดชนิดปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสที่จะพบการเข้าเต้าของทารกในการกินนมมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น หากเป็นปัญหาทำให้การกินนมของทารก สิ่งนี้มักทำให้เกิดความวิตกกังวลแก่มารดา3 ซึ่งการให้คำปรึกษา ให้ทางเลือกสำหรับการผ่าตัดรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเมื่อเริ่มพบปัญหาพบว่า จะช่วยลดการเจ็บเต้านม ช่วยให้การเข้าเต้าดีขึ้น และช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้ ซึ่งภาวะลิ้นติดนี้ยังเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากยังขาดการมอบหมายหรือกำหนดหน้าที่ในการคัดกรองเบื้องต้น ขาดผู้ที่จะให้การยืนยันการวินิจฉัย และที่สำคัญคือขาดผู้ที่จะรับผิดชอบในการให้การผ่าตัดดูแลรักษา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของแพทย์จากสหวิชาชีพ รวมทั้งองค์กรกลางที่จะช่วยวางแนวทางในการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของสถานพยาบาลในแต่ละที่ ความตื่นตัวของบุคลากรทางการแพทย์น่าจะช่วยสร้างกลไกที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนรวมทั้งกระบวนการที่จะช่วยการแก้ปัญหา เพื่อลดผลเสียจากการเข้าเต้าลำบากจากทารกแรกเกิดที่มีภาวะลิ้นติด

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.
  2. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  3. Wong K, Patel P, Cohen MB, Levi JR. Breastfeeding Infants with Ankyloglossia: Insight into Mothers’ Experiences. Breastfeed Med 2017;12:86-90.

การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พอดี น่าจะส่งผลดีต่อนมแม่

IMG_2931

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การดำเนินชีวิตอย่างสมดุล พอเพียง และพอดี มีการวางแผนสำหรับการตั้งครรภ์เมื่อมีความพร้อมและอายุที่เหมาะสม การใส่ใจดูแลการตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นพื้นฐานที่สุขภาพที่ดี เมื่อมารดามีสุขภาพที่ดี โอกาสที่จะสร้างให้เกิดลูกที่ดีและมีคุณภาพจะดีขึ้น แต่คำว่าสุขภาพนั้น ต้องมองถึงสุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย ตัวอย่างเช่น หากมารดาตั้งครรภ์ ก่อนหน้านี้เคยกินกาแฟทุกวันเป็นประจำวันละ 1 แก้ว เมื่อตั้งครรภ์แล้วจึงงดกาแฟเด็ดขาด เนื่องจากความวิตกกังวลว่าจะเกิดผลเสียต่อทารก แล้วอดไม่ได้ กินกาแฟไปหนึ่งแก้วแล้วเครียดหนัก กลับอาจเกิดผลเสียต่อทารกจากความเครียดของมารดามากกว่าการกินกาแฟ หรือมารดาที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยก่อนตั้งครรภ์ แต่เห็นว่า การออกกำลังกายเป็นผลดีต่อการตั้งครรภ์ จึงตั้งหน้าตั้งตาออกกำลังกายอย่างหนักจนน้ำหนักลดระหว่างการตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง การได้รับแอลกอฮอล์หลังคลอดขณะให้นมบุตร อาจเกิดจากกินยาดองเหล้าหรือการเช้าสังคมเพียงเล็กน้อย ร่วมกับการหลีกเลี่ยงเว้นช่วงระยะเวลาให้นมบุตรให้เหมาะสม มีรายงานว่าไม่มีผลเสียต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกที่อายุหนึ่งปี1 แต่หากมารดาเครียด ความเครียดนี้อาจมีผลกระทบต่อการหลั่งน้ำนมโดยอาจส่งผลให้น้ำนมลดลงได้ นี่อาจแสดงถึงการใช้ชีวิตอย่างสมดุล มีความรู้ความเข้าอย่างเหมาะสม มีจิตใจที่เบิกบาน ไม่วิตกกังวล เครียดจนเกินไป มีการเข้าสังคม มีเพื่อนบ้านและสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตอาสาที่จะเผื่อแผ่และแบ่งบัน สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดผลที่ดีในการที่จะสร้างลูก เด็กที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างที่ประเทศชาติต้องการ โดยการมีนโยบายที่เสนอให้มีลูกเพื่อชาติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Wilson J, Tay RY, McCormack C, et al. Alcohol consumption by breastfeeding mothers: Frequency, correlates and infant outcomes. Drug Alcohol Rev 2017.

ทำอย่างไร จะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝด

S__38207905

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ที่ในปัจจุบันพบเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากค่านิยมของสตรีที่แต่งงานช้าลง เมื่อแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่ต้องพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้น ปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่พบตามมา เนื่องจากการที่ครรภ์แฝดมีโอกาสที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักตัวจากการอยู่ในพื้นที่ในครรภ์มารดาที่มีความจำกัด ต้องอยู่ในภาวะแบ่งกันกินแบ่งกันอยู่ หลังคลอดทารกมีโอกาสต้องเข้ารักษาที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตเพิ่มขึ้น ทำให้การเริ่มนมแม่ทำได้ช้า รวมทั้งเมื่อให้นมแม่ได้แล้วยังต้องจัดเวลาเพื่อให้นมแก่ทารกที่มากกว่าหนึ่งคนให้เพียงพอ จึงมักพบว่าระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีครรภ์แฝดมักให้นมลูกได้สั้นกว่ามารดาที่เป็นครรภ์เดี่ยว มีความพยายามที่จะให้คำปรึกษา อบรม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝด ซึ่งการให้คำปรึกษาที่ดีก็น่าจะช่วยให้มารดาและครอบครัวเตรียมพร้อมที่จะช่วยให้ลูกได้กินนมแม่ได้ดีขึ้น แต่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประโยชน์ที่เหนือกว่าจากการที่ให้ความรู้และให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาครรภ์แฝดจากการศึกษาทดลองแบบสุ่ม (randomized controlled trial)1 อย่างไรก็ตาม การดูแล การช่วยป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนของทารกแฝดให้น้อยลง น่าจะช่วยให้โอกาสของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีและมีสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Whitford HM, Wallis SK, Dowswell T, West HM, Renfrew MJ. Breastfeeding education and support for women with twins or higher order multiples. Cochrane Database Syst Rev 2017;2:CD012003.

การตั้งครรภ์ครั้งแรกและการได้รับการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำคัญกว่าอายุของมารดา

IMG_3523

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นที่ทราบกันดีว่า อายุของมารดาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่หากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องกันได้แก่ ปัจจัยจากลำดับครรภ์และปัจจัยเรื่องการได้รับความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 โดยหากมารดาที่ตั้งครรภ์หรือมีบุตรอายุน้อยมักจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก ซึ่งมารดายังขาดประสบการณ์ในการดูแลครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้มีผลต่อระยะเวลาและอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเช่นเดียวกันในมารดาที่อายุน้อย ยิ่งหากเป็นมารดาวัยรุ่นหรืออยู่ในวัยเรียน การตั้งครรภ์มักไม่ได้วางแผนหรือเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ ดังนั้น ความสนใจจะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะมีน้อย สิ่งนี้ส่งผลต่อทั้งอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาจึงต้องเริ่มจากการชักจูงมารดาให้เข้าร่วมการฝากครรภ์ตามระบบ เพื่อจะให้ได้รับการให้คำปรึกษา การถ่ายทอดประสบการณ์จากกลุ่มมารดาที่มาฝากครรภ์ด้วยกัน ซึ่งจะสร้างให้เกิดความเข้าใจ ตั้งใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะส่งผลดีต่อผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ สุขภาพมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Whipps MD. Education Attainment and Parity Explain the Relationship Between Maternal Age and Breastfeeding Duration in U.S. Mothers. J Hum Lact 2017;33:220-4.

 

อุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาวัยเรียน

IMG_3739

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย เมื่อมารดาตั้งครรภ์ในขณะที่เป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยเรียน ซึ่งปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเกิดการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย และหากมีการตั้งครรภ์ในมารดาที่อายุน้อยกว่า 13 ปี อุ้งเชิงกรานของมารดาอาจจะยังขยายขนาดไม่เพียงพอ ทำให้การคลอดบุตรยากลำบากและเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น หลังคลอดมารดาวัยรุ่นโดยเฉพาะที่อยู่ในวัยเรียนมักมีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมารดามักมีอารมณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยวและมีความกังวลว่า คนอื่นๆ จะคิดอย่างไรกับการตั้งครรภ์ของตนเอง นอกจากนี้มักเกิดคำถามในใจว่า จะให้นมลูกได้ที่ไหน จะปั๊มนมให้ลูกได้อย่างไร และส่วนหนึ่งมีการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเมื่อมารดากลับไปเรียนต่อ1 ดังนั้น จะเห็นว่า ปัญหาของมารดาวัยเรียนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ต้องการการดูแลให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจถึงปัญหาของมารดาวัยเรียนเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  1. West JM, Power J, Hayward K, Joy P. An Exploratory Thematic Analysis of the Breastfeeding Experience of Students at a Canadian University. J Hum Lact 2017;33:205-13.