คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ลักษณะการทำงานของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3989

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การกลับไปทำงานของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังเป็นสาเหตุหลักที่สำคัญในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ลักษณะของงานที่มารดาทำยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยในมารดาที่ทำงานในลักษณะชั่วโมงการทำงานปกติ กับมารดาที่ทำงานเป็นช่วงระยะเวลาหรือเป็นกะ โดยมีกะบ่ายหรือกะดึก หรือทำงานในช่วงระยะสั้น ไม่เต็มเวลา หรือทำงานเฉพาะเสาร์อาทิตย์ จะส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างกัน โดยหากมารดาต้องทำงานเป็นช่วงเวลาหรือเป็นกะ การทำงานในกะบ่ายน่าจะมีดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สุด1 อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มีการแข่งขันในเศรษฐกิจและทางสังคม การเลือกงานบางครั้งอาจทำได้ลำบาก การเตรียมความพร้อมของมารดาและครอบครัวให้พร้อมรับกับการกลับไปทำงานของมารดาจึงมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรเป็นที่พึ่งและให้คำปรึกษาในกรณีนี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Zilanawala A. Maternal Nonstandard Work Schedules and Breastfeeding Behaviors. Matern Child Health J 2017.

 

การชักนำการคลอดอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3454

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ในปัจจุบัน เมื่อมารดาอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดและยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด การชักนำการคลอดเป็นทางเลือกวิธีหนึ่งในการดูแลการคลอด ซึ่งควรจะทำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เนื่องจากการชักนำการคลอดจะใช้ยาที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโพสตราแกรนดิน (prostaglandin) ในร่างกายมารดาที่อาจมีผลต่อสมดุลของฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซิโตซินในระยะหลังคลอดและพบคะแนนการประเมินภาวะซึมเศร้าของมารดาสูงกว่าในมารดาที่มีการชักนำการคลอด ซึ่งผลเหล่านี้มีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่ามารดาที่ได้รับการชักนำการคลอดมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่ามารดาที่ไม่ได้ชักนำการคลอดที่ระยะสามเดือนหลังคลอด1 อย่างไรก็ตาม กลไกที่ชัดเจนในการอธิบายความเชื่อมโยงเหล่านี้ยังมีจำกัด แพทย์จึงควรยึดหลักที่สำคัญในการชักนำการคลอดตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็น เพื่อลดผลเสียที่อาจมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Bertin M, Sansone L, Felice L. The adaptive psychological changes of elective induction of labor in breastfeeding women. Early Hum Dev 2017;104:13-6.

 

สมุดคู่มือและการโทรศัพท์ติดตามช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3959

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การให้ความรู้แก่มารดามีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การให้สมุดคู่มือแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาในระยะหลังคลอด ให้มารดาสามารถอ่านเนื้อหาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลงข้อมูลการให้นมลูก และมีการแนะนำการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งนี้น่าจะกระตุ้นเตือนถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้การติดตามโทรศัพท์สอบถามเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเปิดโอกาสให้มารดาได้มีการสอบถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็น่าจะช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เช่นกัน มีการศึกษาถึงผลของการให้สมุดคู่มือและการโทรศัพท์ไปสอบถามมารดาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่าสามารถช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สามเดือนหลังคลอด1 ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ควรเพิ่มระบบการให้บริการโดยการจัดการแจกสมุดคู่มือรวมทั้งการโทรศัพท์ติดตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zakarija-Grkovic I, Puharic D, Malicki M, Hoddinott P. Breastfeeding booklet and proactive phone calls for increasing exclusive breastfeeding rates: RCT protocol. Matern Child Nutr 2017;13.

โรคซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3953

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ในมารดาที่ไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ บางคนอาจรู้สึกผิดและรู้สึกด้อยค่า โดยหากมารดามีบุคลิกภาพที่เสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มารดาเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ ดังนั้น หลังคลอดมารดาควรได้รับการเอาใจใส่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก การให้ความเข้าใจของสามีและครอบครัวจึงมีความสำคัญ

? ? ? ? ? ? ?การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดอาการซึมเศร้า เนื่องจากผลของฮอร์โมนโดยเฉพาะออกซิโตซินที่เป็นฮอร์โมนแห่งความรักช่วยลดการเกิดอาการซึมเศร้า ในทางกลับกันมารดาที่มีโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาที่แนะนำ โดยมีการศึกษาพบว่า มารดาที่มีโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประมาณร้อยละ 20 ที่สามเดือนหลังคลอดเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่มีภาวะนี้1 ดังนั้น โรคหรืออาการซึมเศร้าจึงอาจเป็นทั้งความเสี่ยงต่อการหยุดนมแม่และการไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นตัวกระตุ้นของอาการของโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรเข้าใจและใส่ใจในมารดาที่มีบุคลิกภาพที่เอื้อต่อการเกิดอาการซึมเศร้า เพื่อการวางแผนการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wouk K, Stuebe AM, Meltzer-Brody S. Postpartum Mental Health and Breastfeeding Practices: An Analysis Using the 2010-2011 Pregnancy Risk Assessment Monitoring System. Matern Child Health J 2017;21:636-47.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหน้าที่หรือทางเลือก

IMG_3957

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีทั้งสารอาหารที่ครบถ้วนและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกเจริญเติบโต เฉลียวฉลาด และมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยทั่วไปมารดาที่คลอดบุตรควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่บางครั้งมีคำถามที่เกิดขึ้นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหน้าที่หรือเป็นทางเลือกที่มารดาสามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจในการเลือกที่จะให้นมบุตรหรือไม่ ก่อนที่ตอบคำถามนี้คงต้องมาดูถึงความหมายของคำว่า ?หน้าที่? ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน คำว่า หน้าที่ หมายถึง กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ จะมีคำว่า ?ต้อง? และ ?ความรับผิดชอบ? ซึ่งเป็นการกำหนดหรือบังคับกระทำด้วยมีผลต่อความรับผิดชอบ หากไม่ปฏิบัติจะขาดความรับผิดชอบ ดังนั้น หากตีความว่าเป็นหน้าที่ของมารดา มารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจรู้สึกผิด หรือรู้สึกด้อยค่าหากมารดาไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 แต่หากให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทางเลือก ก่อนที่จะเลือกมารดาควรรับฟังข้อมูลทางเลือกของอาหารสำหรับทารกอย่างครบถ้วนและเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองและทารก การไม่เลือกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ถือเป็นสิ่งที่ผิด อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ควรแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมารดาและทารกก่อน ดังนั้นไม่ว่ามารดาจะเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหน้าที่หรือทางเลือกบนพื้นฐานแห่งการรับรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา หากไม่เกิดผลเสียแก่มารดาและทารก บุคลากรทางการแพทย์ควรเคารพความคิดเห็นของมารดาโดยหากมีข้อจำกัดและเหตุผลที่มารดาไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การให้คำปรึกษาที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่มารดาและทารกต้องเผชิญก่อน เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่หากอุปสรรคนั้นไม่สามารถจะผ่านไปได้ การประคับประคองความรู้สึกของมารดา ลดความรู้สึกผิดหรือด้อยค่า ก็ยังเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Woollard F, Porter L. Breastfeeding and defeasible duties to benefit. J Med Ethics 2017.