คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในชั่วโมงแรกหลังการเกิด ถือเป็นชั่วโมงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวควรให้ความเคารพในกระบวนการตามธรรมชาติที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและความสามารถในการปรับตัวของทารกกับสิ่งแวดล้อมใหม่ พฤติกรรมของทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการ 9 ขั้นตอน ได้แก่ ร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว ขยับ พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนมและหลับ ซึ่งกว่าทารกจะเริ่มการดูดนมต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงหลังคลอด ดังนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ให้ความสำคัญของกระบวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกแม่ ที่ไม่ควรมีสิ่งใดมารับกวนสัมผัสรักของมารดาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาการให้กับบุตร กระบวนการทางการแพทย์ใด ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า และรอได้ ควรละเว้นหรือรอให้ทารกได้ดื่มด่ำคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนมของมารดาที่จะนำพาสู่น้ำนมหยดแรกและเป็นก้าวแรกที่เป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

ชั่วโมงแรก…ชั่วโมงอันศักดิ์สิทธิ์และแสนมหัศจรรย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ชั่วโมงแรกหลังการเกิด ทารกจะมีพัฒนาการจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก การที่ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อจะส่งผลดีในระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจของทารก เมื่อมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด จะพบทารกมีการเปลี่ยนแปลงตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติเป็นลำดับใน 9 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ร้องไห้ขณะเกิด (the birth cry) ทารกจะร้องไห้เมื่อแรกคลอด ซึ่งทำให้เกิดการขยายและนำอากาศเข้าสู่ปอด

ระยะที่ 2 ผ่อนคลาย (relaxation) หลังทารกหยุดร้องไห้ ทารกจะผ่อนคลาย ไม่มีขยับแขนขาหรือขยับปาก จะสังเกตเห็นทารกสงบนิ่งอยู่บนอกมารดา

ระยะที่ 3 ตื่นตัว (awakening) เมื่อถึงระยะนี้ ทารกจะมีการขยับศีรษะและไหล่ โดยทารกจะเข้าสู่ระยะนี้ราว 3 นาทีหลังจากเกิด อาจสังเกตเห็นทารกลืมตา ขยับปาก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะและหัวไหล่

ระยะที่ 4 ขยับหรือเคลื่อนไหว (activity) ทารกจะมีการขยับปากหรือแสดงลักษณะของการดูดชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากมีการสัมผัสบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก ทารกจะหันเข้าหาและแสดงอาการดูดให้เห็น (rooting reflex) ระยะนี้จะเริ่มราว 8 นาทีหลังการเกิด

ระยะที่ 5 พัก (rest) เป็นระยะที่ทารกจะหยุดหรือพักจากการขยับหรือเคลื่อนไหว ซึ่งระยะพักจะพบสลับกับการที่ทารกขยับ ดูด หรือเคลื่อนไหวได้ตลอดช่วงที่ทารกอยู่บนอกมารดา

ระยะที่ 6 คืบคลาน (crawling) ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปหาเต้านมและหัวนม ระยะนี้จะเริ่มราว 35 นาทีหลังการเกิด

ระยะที่ 7 คุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม ทารกจะเริ่มมีการสัมผัส เลีย หรืออมหัวนม ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณให้เต้านมมารดามีความพร้อมที่จะหลั่งน้ำนม ระยะนี้จะเริ่มราว 45 นาทีหลังการเกิด และทารกจะอยู่ในระยะนี้ราว 20 นาทีหรือมากกว่านั้น

ระยะที่ 8 ดูดนม ระยะนี้ทารกจะเริ่มประกบปาก อมหัวนมและลานนม พร้อมกับดูดนม โดยจะเริ่มราว 1 ชั่วโมงหลังการเกิด แต่ในมารดาที่ได้รับการให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับความรู้สึก อาจส่งผลให้ระยะนี้เกิดช้าลงได้

ระยะที่ 9 หลับ หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ ทารกจะง่วงหลับ ซึ่งจะพบทารกง่วงหลับราว 1ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงหลังการเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

แม่ให้นมลูกเข้าฟิตเนตได้ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี และไม่ได้เป็นข้อห้ามในระหว่างการให้นมลูก แต่การเริ่มการออกกำลังกายในมารดาหลังคลอดแต่ละคน อาจเริ่มได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดว่า มารดาคลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด และระหว่างการคลอดหรือหลังคลอดมารดามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ บ้าง รวมถึงโรคประจำตัวของมารดาในแต่ละคน ก็อาจมีผลต่อรูปแบบหรือวิธีการที่จะเลือกการออกกำลังกายในแบบใดแบบหนึ่ง ในมารดาที่คลอดปกติ การบริหารร่างกายหรือการออกกำลังกายจะเริ่มได้เร็วในราวหนึ่งสัปดาห์เมื่ออาการปวดมดลูกหรืออาการเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บลดน้อยลงแล้ว สำหรับในมารดาที่ผ่าตัดคลอด การบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายจะเริ่มได้ช้ากว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มการออกกำลังกายได้เมื่อแผลที่หน้าท้องเริ่มหายและมีความแข็งแรงพอใจ ซึ่งจะราวหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง แต่การบริหารร่างกายในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผล มารดาก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่จะออกกำลังกาย ควรบริหารเวลาให้เหมาะสม โดยไม่ออกกำลังกายจนร่างกายเหนื่อยหรือล้าจนเกินไป อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีผลเสียต่อการให้นมแม่ได้ นอกจากนี้ มารดาควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับการเสียเหงื่อระหว่างการออกกำลังกายด้วย เพื่อให้ร่างกายมารดาไม่ขาดน้ำจนอาจมีผลต่อความเข้มข้นของน้ำนมแม่ อีกเรื่องหนึ่งที่มารดาไม่ควรลืม คือการใส่ชุดชั้นในที่พยุงเต้านมอย่างเหมาะสมระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เกิดการหย่อนยาน หรือเกิดการรัดแน่นจนเกิดการคั่งหรือขังของน้ำนมจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ในยุคที่สังคมไทยใส่ใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น การมีความรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างการให้นมลูก จะส่งเสริมให้มารดามีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิก ซึ่งส่วนหนึ่งมารดาจะได้ประโยชน์จากการที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

แม่กินมังสวิรัติมีผลต่อลูกที่กินนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ในกลุ่มผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติจะมีโอกาสที่จะขาดสารอาหาร โดยสารอาหารที่มีความเสี่ยงที่จะขาดคือ วิตามินบีสิบสอง หากมารดาขาดวิตามินบีสิบสอง น้ำนมจะมีวิตามินบีสิบสองน้อย ทำให้ลูกที่กินนมแม่มีโอกาสขาดวิตามินบีสิบสองด้วย โดยอาการในทารกอาจพบมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย อ่อนแรง การพัฒนาการของการสั่งงานของกล้ามเนื้อช้า คลื่นไส้อาเจียน หรือมีปัญหาซีดหรือเกี่ยวกับโรคเลือด อย่างไรก็ตาม อาหารมังสวิรัติปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบ รสชาติ และมีการเสริมวิตามินบีสิบสองด้วย ซึ่งในกรณีที่มารดารับประทานอาหารมังสวิรัติและใส่ใจดูแลป้องกันความเสี่ยงเรื่องการขาดวิตามินบีสิบสองอยู่แล้ว สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ แต่หากมารดามีความวิตกกังวล อาจปรึกษาแพทย์เรื่องความจำเป็นในการเสริมวิตามินบีสิบสองในทารกก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ลูกแพ้นมแม่ได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? หากมีคำถามลูกแพ้นมแม่ได้ไหม โดยทั่วไปทารกจะไม่แพ้นมแม่ แต่ก็พบในทารกที่มีความผิดปกติของเอนไซม์ในการย่อยน้ำนมบางตัวในกรณีมีภาวะ galactosemia อาจทำให้ทารกมีอาการผิดปกติได้เมื่อได้รับนมแม่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบน้อยมาก สำหรับกรณีที่พบได้บ่อยกว่าคือ การที่ทารกแพ้สารอาหารบางตัวที่มารดารับประทานระหว่างการให้นมแม่ อาหารที่มารดารับประทานจะผ่านการย่อย ดูดซึมเข้ากระแสเลือด และผ่านทางน้ำนมในปริมาณที่หลากหลายแล้วแต่ชนิดของสารอาหาร อาการที่ทารกมีอาจพบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด หงุดหงิด ร้องกวน มีผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ หากมีอาการรุนแรงอาจพบไอหรือหายใจเร็ว หอบ (พบน้อย) ซึ่งหากมารดาสังเกตว่ารับประทานอาหารประเภทนี้แล้วทารกมีอาการผิดปกติ อาจพิจารณาหยุดอาหารดังกล่าวไปก่อน เว้นไว้สักระยะหนึ่งจึงกลับมาทดลองกินดูใหม่ โดยทั่วไปเมื่อทารกโตขึ้นอาการแพ้จะลดลงได้เอง ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้นับเป็นการแพ้นมแม่โดยตรง การอธิบายให้มารดาและครอบครัวเข้าใจถึงความรู้เหล่านี้ จะทำให้มารดาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเหมาะสมเมื่อทารกมีอาการผิดปกติ

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017