คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

นมแม่อาจช่วยป้องกันกลุ่มโรคเมตาบอลิก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? กลุ่มโรคเมตาบอลิก หรือ metabolic syndrome ได้แก่ โรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาพลาญอาหารให้เป็นพลังงาน โดยโรคในกลุ่มโรคนี้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต หากไม่มีการดูแลเรื่องพฤติกรรมการกินที่ดีและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีการศึกษาเรื่องอาหารในวัยเริ่มต้นของชีวิตก็คือ นมแม่ พบว่ามีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคในกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้1 เมื่อมีข้อมูลที่น่าเชื่อว่าจะป้องกันกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้ การรณรงค์ให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นก็ควรส่งเสริม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในกลุ่มโรคเมตาบอลิก ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและน่าจะช่วยยืดอายุขัยของคนในสังคมให้ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wisnieski L, Kerver J, Holzman C, Todem D, Margerison-Zilko C. Breastfeeding and Risk of Metabolic Syndrome in Children and Adolescents: A Systematic Review. J Hum Lact 2017:890334417737038.

 

นมแม่ช่วยลดอิทธิพลของยีนอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในคนที่เป็นโรคอ้วนส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม ?ยีนอ้วน หรือ FTO (fat mass and obesity associated gene) เมื่อมีการแปรผันไปของยีนอ้วนจะมีผลต่อฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ที่สร้างจากกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการอยากอาหาร ทำให้เกิดความอยากอาหารผิดปกติ แม้จะได้รับการกินอาหารเข้าไปแล้ว ส่งผลให้บุคคลที่มียีนอ้วนที่แปรผันไปเกิดโรคอ้วนได้มากกว่าคนทั่วไป มีการศึกษาถึงผลของการให้ลูกได้กินนมแม่พบว่าช่วยลดโอกาสที่เกิดโรคอ้วนในเด็กและในวัยผู้ใหญ่หลังจากที่ทารกเจริญเติบโตขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนในทารกที่มียีนอ้วนที่แปรผันไปด้วย1 ดังนั้น การดูแลให้อาหารของทารกในช่วงแรกของชีวิตคือ ให้ทารกได้มีโอกาสที่จะได้รับนมแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเดียวหกเดือนและหลังจากนั้น ได้รับนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้น จะเป็นประโยชน์แก่ทารกอย่างมากในเรื่องการป้องกันโรคอ้วน ไม่ว่าโรคอ้วนนั้นจะมีผลมาจากการกินหรือพันธุกรรมผิดปกติก็ตาม

เอกสารอ้างอิง

  1. Wu YY, Lye S, Briollais L. The role of early life growth development, the FTO gene and exclusive breastfeeding on child BMI trajectories. Int J Epidemiol 2017;46:1512-22.

อุปสรรคของมารดาวัยเรียนที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มารดาวัยรุ่นเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นในทุกประเทศรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ของมารดาเหล่านี้ก็จะอยู่ในวัยเรียน ซึ่งจะมีปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดเมื่อกลับไปเรียนหลายประการ คือ นโยบายในการที่จะเอื้อหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับมารดาวัยเรียนของสถานศึกษา วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย การขาดการจัดสถานที่หรือบริเวณที่จะจัดให้มารดาวัยเรียนบีบเก็บน้ำนมและขาดอุปกรณ์ที่สนับสนุนการบีบเก็บน้ำนม1? ความเข้าใจและเห็นใจของเพื่อนที่อยู่ในวัยเรียนด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น การตื่นตัวของสถานศึกษาที่ยอมรับสภาพของปัญหา สร้างและหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันให้มารดาวัยเรียนสามารถศึกษาอย่างต่อเนื่องไปได้ร่วมกันกับมีนโยบายผ่อนปรนเพื่อเอื้อให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อมารดาและทารกที่จะได้โอกาสที่จะมีพัฒนาการในการเรียนรู้และได้รับสารอาหารที่เหมาะสมที่สุด เพื่อความก้าวหน้าของตนเองและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

เอกสารอ้างอิง

  1. Albrecht SA, Wang J, Spatz D. A Call to Action to Address Barriers to Breastfeeding and Lactation Faced by Student-Mothers. Nurs Womens Health 2017;21:431-7.

อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดคลอดกับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่มารดาหลังผ่าตัดคลอดเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่คลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับสาเหตุของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้าอาจเป็นจากการที่มารดาได้รับยาดมสลบทำให้การรู้ตัวของมารดาเปลี่ยนแปลงไป และกว่าจะรู้สึกตัวได้ดีก็ใช้เวลาทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า แต่สำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียน และการปวดแผลที่เชื่อว่าอาจมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้านั้น อาจไม่ได้เป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาการคลื่นไส้อาเจียนและการปวดแผลหลังการผ่าตัดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 4 สัปดาห์หลังคลอดพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน1 นั่นอาจแสดงถึงว่า หากมารดาหลังผ่าตัดคลอดสามารถเริ่มให้นมแม่ได้เร็ว ก็อาจจะไม่ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจในการเริ่มให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วโดยเฉพาะมารดาที่ผ่าตัดคลอดเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลเสียที่จะเกิดแก่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Abola R, Romeiser J, Grewal S, et al. Association of postoperative nausea/vomiting and pain with breastfeeding success. Perioper Med (Lond) 2017;6:18.

เสียงที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศทางทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ทารกกินนมแม่ได้ เนื่องจากประโยชน์ของการกินนมแม่ในด้านการป้องกันการเสียชีวิตของทารกนั้นสูงกว่าความเสี่ยงในการที่ทารกจะได้รับการติดเชื้อเอชไอวี? มีการศึกษาในประเทศกานา พบว่า บุคคลที่มีสิทธิมีเสียงที่จะทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่จะพิจารณาเลือกให้ลูกได้กินนมแม่ ได้แก่ ความคิดเห็นของสามี คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ ความคิดเห็นของญาติพี่น้อง และกระแสสังคม1 ดังนั้นจึงเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ที่ควรจะให้คำแนะนำทั้งต่อมารดา สามี ญาติพี่น้อง และคนในสังคมให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย นโยบายสำหรับมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี แนะนำให้งดการให้นมลูก โดยในทางปฏิบัติในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจะมีการสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งครบ 2 ปี ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความเข้าใจและสามารถแนะนำมารดาและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Acheampong AK, Naab F, Kwashie A. The Voices That Influence HIV-Positive Mothers’ Breastfeeding Practices in an Urban, Ghanaian Society. J Hum Lact 2017:890334417740345.