คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

อะไรคืออุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หากตั้งคำถามกับบุคลากรทางการแพทย์ว่า อะไรเป็นอุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเมื่อต้องให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด คำตอบที่มักได้รับคือ ขาดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ และกำลังคนที่พอเพียงจะดำเนินการในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามมาตรฐานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งกระบวนการนั้นเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ให้มารดาเห็นประโยชน์ความสำคัญของการให้ทารกได้กินนมแม่ ทำให้มารดามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากนั้น เมื่ออยู่ในระยะคลอดและหลังคลอด หลีกเลี่ยงกระบวนการดูแลการคลอดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การผ่าตัดคลอดโดยขาดข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และมีการเตรียมความพร้อมของมารดาที่จะกระตุ้นการดูดนมแม่ตั้งแต่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การสอนมารดาจัดท่าให้นมลูก สอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ และประเมินว่ามารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่โดยมีการจัดท่าให้นมที่ถูกต้องก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน หลังมารดากลับบ้านควรมีการติดตามเยี่ยมบ้านภายในสัปดาห์แรกหลังคลอดและติดตามมารดาเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งให้ช่องทางติดต่อสื่อสารหากมารดาพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องการได้รับคำปรึกษา ซึ่งการดูแลควรครอบคลุมถึงบิดา และญาติผู้มีบทบาทในการช่วยดูแลทารก การที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ อาสาสมัครสาธารณสุข มารดาอาสา และความร่วมมือของมารดาและญาติ1? อย่างไรก็ดี นโยบายที่ชัดเจนประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอโดยมีการพัฒนาความรู้และทักษะให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ มีค่าตอบแทนและบันไดอาชีพที่เหมาะสม จะช่วยให้ระบบการทำงานมีความพัฒนา ก้าวหน้า และยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anstey EH, Coulter M, Jevitt CM, et al. Lactation Consultants’ Perceived Barriers to Providing Professional Breastfeeding Support. J Hum Lact 2018;34:51-67.

?

มารดาลาคลอดที่ได้รับเงินชดเชยจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?สวัสดิการการลาคลอดของมารดาที่ได้รับเงินชดเชยมีผลต่อการเริ่มและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึงหกเดือนได้สูงกว่ามารดาที่ลาคลอดโดยไม่มีเงินชดเชย1 ในยุคที่เศรษฐกิจมีการแข่งขัน มารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงานนอกบ้านทำให้ระยะเวลาของการลาคลอดและเลี้ยงดูแลบุตรมีความสำคัญต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การจ่ายเงินชดเชยระหว่างการลาพักหลังคลอดยังมีผลต่อระยะเวลาของการที่มารดาจะลาพักครบกำหนดตามสิทธิหรือการเลือกที่จะกลับมาทำงานก่อน เพื่อให้มีรายได้และช่วยรายรับของครอบครัว แม้ว่าการให้เงินชดเชยในระหว่างการลาพักหลังคลอดจะมีผลต่อการตัดสินใจที่จะอยู่ที่บ้านดูแลและให้นมลูกของมารดา และในบางประเทศในยุโรปมีสวัสดิการการลาพักหลังคลอด 1 ปี หรือในบางประเทศให้ลาได้ถึง 1 ปี 6 เดือน? ขณะที่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ในวัยแรงงานจะทำประกันสังคม ซึ่งจะมีสิทธิในการลาพักหลังคลอดโดยได้รับเงินเดือน 45 วัน การที่จะออกกฎหมายที่จะสนับสนุนให้มีสวัสดิการการคลอดที่นานขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การลาพักโดยมีการชดเชยเงินเดือนจะทำให้แรงงานส่วนหนึ่งในระบบลดลง ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มเติมในช่วงที่มารดาลาพักหลังคลอดมากขึ้น อาจจะมีผลต่อค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย การพิจารณาและเลือกที่จะดำเนินการปรับปรุงระยะเวลาของสวัสดิการการลาคลอดที่มีการชดเชยเงินเดือนให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Mirkovic KR, Perrine CG, Scanlon KS. Paid Maternity Leave and Breastfeeding Outcomes. Birth 2016;43:233-9.

หลักการให้ยากระตุ้นน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การที่น้ำนมมาช้าเป็นเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่อาจทำให้มารดามีความวิตกกังวลเรื่องน้ำนมไม่พอ และนำไปสู่การเสาะหายากระตุ้นน้ำนม ซึ่งดูแล้วเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องอธิบายหรือทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความจำเป็นในการให้ยากระตุ้นน้ำนม สิ่งที่ต้องอธิบายให้แม่มีความเข้าใจเบื้องต้นคือปกติแล้ว แม่ส่วนใหญ่จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารกหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือพบความผิดปกติใด ๆ ดังนั้น เมื่อธรรมชาติให้แม่มีน้ำนมเพียงพออยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นน้ำนม1 เพราะการใช้ยาจะมีโอกาสที่มารดาอาจเกิดอาการข้างเคียงหรือการแพ้จากการใช้ยาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปเสาะหาหรือขอยากระตุ้นน้ำนมจากแพทย์ ซึ่งแพทย์บางครั้ง หากทนการกดดันจากมารดาไม่ได้ก็อาจจะให้ยากระตุ้นน้ำนมมา ซึ่งเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น นอกจากการอธิบายว่านมแม่ปกติจะมีเพียงพอสำหรับทารก การที่มารดามีน้ำนมไหลจากเต้านมอีกข้างขณะทารกดูดนม หรือการแสดงการบีบน้ำนมด้วยมือแล้วน้ำนมไหลออกพุ่งดี รวมทั้งการที่ลูกกินนมแล้วหลับได้ดี ขับถ่ายได้ดี น้ำหนักทารกขึ้นตามเกณฑ์ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าน้ำนมแม่มีเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นน้ำนมหรือเสริมน้ำผงดัดแปลงสำหรับทารก

สำหรับยากระตุ้นน้ำนม ข้อบ่งชี้ที่จะให้ยามักจะเป็นกรณีที่มารดาต้องห่างจากลูกและมีการหยุดการให้นมนาน มีผลทำให้น้ำนมแม่ลดลงหรือไม่มีน้ำนมไหลออกมาเลย การใช้ยาในกรณีนี้ยาที่แนะนำคือ domperidone เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับยานี้ในการกระตุ้นน้ำนมมากและหากใช้ในปริมาณ 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในมารดาที่เป็นโรคหัวใจ สำหรับยาตัวอื่น ๆ ได้แก่ metoclopramide, fenugreek, silymarin รวมทั้งสมุนไพรต่าง ๆ ข้อมูลการศึกษายังมีจำกัด จึงอาจใช้ในกรณีที่ไม่สามารถให้ domperidone ได้ หากเข้าใจหลักการนี้แล้ว การใช้ยากระตุ้นน้ำนมจะมีการใช้ที่น้อยลงและใช้อย่างเหมาะสมสมเหตุสมผลมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Brodribb W. ABM Clinical Protocol #9: Use of Galactogogues in Initiating or Augmenting Maternal Milk Production, Second Revision 2018. Breastfeed Med 2018;13:307-14.

 

 

ตัวอย่างการปรับท่าให้นมลูกที่เหมาะสม 1


การสังเกตการจัดท่าให้นมเข้าเต้าที่เหมาะสม สังเกตจากศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดกับมารดา ทารกหันหน้าเข้าหาเต้านมโดยจมูกอยู่ที่เต้านม และมีการประคองรองรับตัวทารกอย่างมั่นคง
-จะสังเกตว่าหลังการปรับเปลี่ยนท่าในการให้นมลููก ลำตัวทารกจะแนบชิดกับมารดา มีการใช้หมอนหรือผ้าช่วยหนุน ทำให้มารดาไม่ต้องเกร็งมือ และลำตัวมารดาไม่ก้ม ซึ่งจะทำให้มารดาไม่ปวดหลัง

ตัวอย่างการจัดท่าให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม 1


-การสังเกตการจัดท่าให้นมเข้าเต้าที่เหมาะสม สังเกตจากศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดกับมารดา ทารกหันหน้าเข้าหาเต้านมโดยจมูกอยู่ที่เต้านม และมีการประคองรองรับตัวทารกอย่างมั่นคง
-จะสังเกตว่าการจัดท่าให้นมของมารดารายนี้ ลำตัวทารกห่างจากมารดา มารดาต้องเกร็งมือเพื่อรองรับทารกและก้มตัวให้นมลูก สิ่งนี้จะทำให้ทารกอมหัวนมได้ไม่ลึกและในการให้นมมารดาจะเมื่อยล้าและปวดหลังได้