คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

แม่ให้นมลูกเข้าฟิตเนตได้ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี และไม่ได้เป็นข้อห้ามในระหว่างการให้นมลูก แต่การเริ่มการออกกำลังกายในมารดาหลังคลอดแต่ละคน อาจเริ่มได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดว่า มารดาคลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด และระหว่างการคลอดหรือหลังคลอดมารดามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ บ้าง รวมถึงโรคประจำตัวของมารดาในแต่ละคน ก็อาจมีผลต่อรูปแบบหรือวิธีการที่จะเลือกการออกกำลังกายในแบบใดแบบหนึ่ง ในมารดาที่คลอดปกติ การบริหารร่างกายหรือการออกกำลังกายจะเริ่มได้เร็วในราวหนึ่งสัปดาห์เมื่ออาการปวดมดลูกหรืออาการเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บลดน้อยลงแล้ว สำหรับในมารดาที่ผ่าตัดคลอด การบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายจะเริ่มได้ช้ากว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มการออกกำลังกายได้เมื่อแผลที่หน้าท้องเริ่มหายและมีความแข็งแรงพอใจ ซึ่งจะราวหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง แต่การบริหารร่างกายในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผล มารดาก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่จะออกกำลังกาย ควรบริหารเวลาให้เหมาะสม โดยไม่ออกกำลังกายจนร่างกายเหนื่อยหรือล้าจนเกินไป อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีผลเสียต่อการให้นมแม่ได้ นอกจากนี้ มารดาควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับการเสียเหงื่อระหว่างการออกกำลังกายด้วย เพื่อให้ร่างกายมารดาไม่ขาดน้ำจนอาจมีผลต่อความเข้มข้นของน้ำนมแม่ อีกเรื่องหนึ่งที่มารดาไม่ควรลืม คือการใส่ชุดชั้นในที่พยุงเต้านมอย่างเหมาะสมระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เกิดการหย่อนยาน หรือเกิดการรัดแน่นจนเกิดการคั่งหรือขังของน้ำนมจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ในยุคที่สังคมไทยใส่ใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น การมีความรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างการให้นมลูก จะส่งเสริมให้มารดามีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิก ซึ่งส่วนหนึ่งมารดาจะได้ประโยชน์จากการที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

แม่กินมังสวิรัติมีผลต่อลูกที่กินนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ในกลุ่มผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติจะมีโอกาสที่จะขาดสารอาหาร โดยสารอาหารที่มีความเสี่ยงที่จะขาดคือ วิตามินบีสิบสอง หากมารดาขาดวิตามินบีสิบสอง น้ำนมจะมีวิตามินบีสิบสองน้อย ทำให้ลูกที่กินนมแม่มีโอกาสขาดวิตามินบีสิบสองด้วย โดยอาการในทารกอาจพบมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย อ่อนแรง การพัฒนาการของการสั่งงานของกล้ามเนื้อช้า คลื่นไส้อาเจียน หรือมีปัญหาซีดหรือเกี่ยวกับโรคเลือด อย่างไรก็ตาม อาหารมังสวิรัติปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบ รสชาติ และมีการเสริมวิตามินบีสิบสองด้วย ซึ่งในกรณีที่มารดารับประทานอาหารมังสวิรัติและใส่ใจดูแลป้องกันความเสี่ยงเรื่องการขาดวิตามินบีสิบสองอยู่แล้ว สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ แต่หากมารดามีความวิตกกังวล อาจปรึกษาแพทย์เรื่องความจำเป็นในการเสริมวิตามินบีสิบสองในทารกก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ลูกแพ้นมแม่ได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? หากมีคำถามลูกแพ้นมแม่ได้ไหม โดยทั่วไปทารกจะไม่แพ้นมแม่ แต่ก็พบในทารกที่มีความผิดปกติของเอนไซม์ในการย่อยน้ำนมบางตัวในกรณีมีภาวะ galactosemia อาจทำให้ทารกมีอาการผิดปกติได้เมื่อได้รับนมแม่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบน้อยมาก สำหรับกรณีที่พบได้บ่อยกว่าคือ การที่ทารกแพ้สารอาหารบางตัวที่มารดารับประทานระหว่างการให้นมแม่ อาหารที่มารดารับประทานจะผ่านการย่อย ดูดซึมเข้ากระแสเลือด และผ่านทางน้ำนมในปริมาณที่หลากหลายแล้วแต่ชนิดของสารอาหาร อาการที่ทารกมีอาจพบอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด หงุดหงิด ร้องกวน มีผื่นแดง ผิวหนังอักเสบ หากมีอาการรุนแรงอาจพบไอหรือหายใจเร็ว หอบ (พบน้อย) ซึ่งหากมารดาสังเกตว่ารับประทานอาหารประเภทนี้แล้วทารกมีอาการผิดปกติ อาจพิจารณาหยุดอาหารดังกล่าวไปก่อน เว้นไว้สักระยะหนึ่งจึงกลับมาทดลองกินดูใหม่ โดยทั่วไปเมื่อทารกโตขึ้นอาการแพ้จะลดลงได้เอง ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้นับเป็นการแพ้นมแม่โดยตรง การอธิบายให้มารดาและครอบครัวเข้าใจถึงความรู้เหล่านี้ จะทำให้มารดาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเหมาะสมเมื่อทารกมีอาการผิดปกติ

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

หลังคลอด แม่เครียดต้องทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หลังคลอด มารดาต้องปรับตัวต้อนรับลูก ซึ่งเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว มารดาบางคนอาจมีความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลลูก การให้นมแม่ หรือการดูแลภาระงานต่าง ๆ ในบ้าน จนทำให้มารดาเกิดความเครียดได้ ซึ่งการแก้ไขเรื่องความเครียดนั้น ทำได้หลายวิธี คือ

  • การฝึกผ่อนคลาย ทำจิตใจให้สบาย สร้างบรรยายกาศที่อบอุ่น ไม่เร่งรีบ สบาย ๆ ฝึกควบคุมการหายใจ
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ บางครั้ง การที่มารดาพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลต่อความเครียดได้
  • การได้เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย หากมารดาไม่มีข้อห้ามใดหลังคลอดปกติมารดาสามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายอย่างพอดีจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น
  • การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และให้นมลูกในบรรยากาศที่ผ่อนคลายช่วยในการลดความเครียดให้มารดาได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้การแก้ไขความเครียดด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เพราะการใช้วิธีเหล่านี้นอกจากจะเกิดผลเสียแก่มารดาและทารก หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ไปแล้ว มารดาจะมีภาวะเครียดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จากปัญหาการเพิ่มการใช้สารเสพติดและการเพิ่มปัญหาครอบครัวเพิ่มเติมจากเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
  • หากมารดาหาทางออกในการรับมือกับปัญหาเรื่องความเครียดไม่ได้ ต้องการคำแนะนำหรือการให้คำปรึกษา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยอาจแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรืออาจต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาหรือลดอาการเครียดในช่วงระหว่างการปรับตัว

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ต้องดูแลเรื่องอาหารอย่างไร ระหว่างให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การรับประทานอาหารของมารดาในระหว่างการให้นมแม่นั้น มารดาสามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติเหมือนในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ เพียงแต่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีความหลากหลาย และควรครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมารดาจะผ่านไปสู่น้ำนมได้สูงและอาจเกิดอันตรายกับทารกได้ สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชาหรือกาแฟ ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านน้ำนมไปยังทารกได้ ทำให้ทารกหงุดหงิด งอแง และไม่ยอมนอน สำหรับอาหารที่ส่งเสริมการกระตุ้นน้ำนม โดยทั่วไปไม่จำเป็น1 เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการสร้างและการไหลของน้ำนมนั้น คือ การให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ และดูดนมให้เกลี้ยงเต้า แต่ในสังคมไทยยังมีการแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลี ได้แก่ ไก่ผัดขิง หรือแกงเลียง มีรายงานการศึกษาว่าขิงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมของมารดาได้ในช่วงสามวันแรกหลังคลอดโดยที่หลังจากเจ็ดวันหลังคลอดปริมาณน้ำนมของมารดาจะไม่แตกต่างกัน จากข้อมูลเหล่านี้และการรับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลีก็เป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นอาหารที่คุ้นเคยกันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งการรับประทานอาหารประเภทนี้ไม่ได้มีข้อเสียใด ๆ ดังนั้น หากมารดาต้องการรับประทานก็สามารถรับประทานได้ สำหรับการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุใด ๆ ให้มารดาในช่วงให้นมบุตรนั้น ส่วนใหญ่แนะนำให้มารดารับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการน้ำนมและธาตุเหล็กมักพบน้อยในน้ำนม มารดาจึงควรรับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียมตลอดในช่วงระหว่างการให้นมลูก นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีการแนะนำให้มารดารับประทานวิตามินดีและดีเอชเอ เนื่องจากอาหารของมารดาในสหรัฐอเมริกาจะมีดีเอชเอต่ำและมารดามักพบการขาดวิตามินดีซึ่งอาจส่งผลเสียแก่ทารกได้ แต่ในประเทศไทยข้อมูลการขาดสารอาหารในมารดายังมีน้อยและยังพบมีการขาดแร่ธาตุหรือสารอาหารแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องอาศัยข้อมูลในแต่ละพื้นที่ที่ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามหรือให้คำแนะนำแก่มารดาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม?

อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการให้นมบุตรก็มีความจำเป็น โดยดื่มเมื่อรู้สึกกระหายน้ำ หรือมีปัสสาวะสีเข้ม หรือแนะนำให้มารดาดื่มน้ำหนึ่งแก้วหลังให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017