คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

แม่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? เมื่อพูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว คำถามที่ต้องถามคือ ความหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้สื่อสารตรงกันหรือไม่ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัว ซึ่งบางคนยังมีความเข้าใจว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว หมายถึงให้ลูกกินนมแม่โดยไม่มีการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก บางคนก็เข้าใจว่าให้นมแม่ แต่สามารถให้น้ำร่วมกับการกินนมแม่ได้ มีการศึกษาถึงความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ?การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว? ของมารดาโดยทบทวนจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่เผยแพร่ พบว่า มารดาร้อยละ 70 สามารถตอบคำถามถึงความหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรายงานที่มีความเข้าใจความหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ต่ำที่สุดพบว่าตอบถูกต้องเพียงร้อยละ 3 ซึ่งต่ำมาก1 ดังนั้น ในการแนะนำมารดาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องให้เวลาอธิบายเพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง และอาจต้องให้แผ่นพับที่บอกรายละเอียดของความหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแต่ละรูปแบบ เพื่อประโยชน์ต่อตัวมารดาและทารก และต่อการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาหาความรู้ในการวิจัยจะได้มีความแม่นยำในการตอบคำถามของการวิจัย ทำให้ความรู้ใหม่ที่ได้น่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้ได้จริง

เอกสารอ้างอิง

  1. Still R, Marais D, Hollis JL. Mothers’ understanding of the term ‘exclusive breastfeeding’: a systematic review. Matern Child Nutr 2017;13.

 

 

หากทารกสะอึกต้องให้กินน้ำไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อาการสะอึกเกิดจากการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันของการหายใจกับกระบังลม ซึ่งการกลั้นหายใจระยะหนึ่งแล้วเริ่มต้นใหม่ จะเริ่มจังหวะของการหายใจและบังลมใหม่ที่สอดคล้องกัน ทำให้หายอาการสะอึก ในทารกอาการสะอึกมักพบจากการที่ทารกขณะกินนมได้ดูดอากาศเข้าไปในกระเพาะมากจนรบกวนจังหวะการทำงานของกระบังลม ดังนั้น การแก้ไขเบื้องต้น ควรจับให้ทารกเรอ เพื่อให้ลมในท้องระบายออก อาการสะอึกก็จะดีขึ้น แต่หากทารกไม่ดีขึ้น การที่จะให้ทารกกินน้ำหรือกินนมเพื่อขณะที่ทารกดูดกลืนน้ำหรือนม ทารกจะกลั้นหายใจ การเริ่มต้นใหม่ของจังหวะการทำงานของการหายใจและกระบังลมจะเริ่มต้นใหม่ การสะอึกก็จะหายไป แต่การเลือกที่จะให้น้ำแก่ทารกนั้น แม้จะดูว่าไม่มีอันตรายใด ๆ แต่ทารกจะขาดการได้ประโยชน์จากการกินนมแม่สูงสุด เนื่องจากการกินน้ำเข้าไป จะทำให้ทารกอิ่มน้ำและกินนมได้น้อยลง ค่านิยมเรื่องความเชื่อในการให้ลูกกินน้ำในระยะหลังคลอดยังพบได้มากในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับการศึกษาที่ทำที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีความเชื่อว่า ทารกต้องกินน้ำเพื่อช่วยลดการกระหาย1 ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องปรับเปลี่ยน รณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ทารกได้คุณค่าของนมแม่ที่ประโยชน์เต็มที่จากการกินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Swigart TM, Bonvecchio A, Theodore FL, Zamudio-Haas S, Villanueva-Borbolla MA, Thrasher JF. Breastfeeding practices, beliefs, and social norms in low-resource communities in Mexico: Insights for how to improve future promotion strategies. PLoS One 2017;12:e0180185.

ความตั้งใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ในมารดาวัยรุ่น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การตั้งครรภ์ของมารดาในวัยรุ่นพบเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกันที่ในประเทศไทยพบมารดาที่ตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่นเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งคือ สตรีเลือกที่จะแต่งงานช้าลง ทำให้พบมารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากเพิ่มขึ้นเช่นกัน การตั้งครรภ์และการคลอดทารกในช่วงที่อายุน้อยหรือมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูงขึ้น และมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เมื่อมามองถึงความตั้งใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ของมารดาวัยรุ่น มีการศึกษาพบว่า ทั้งบิดาและมารดาของทารกต่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการเลือกตัดสินใจในการให้นมลูกจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเคยเห็นหรืออยู่ในสังคมที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องปกติที่ควรกระทำ1 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ ดังนั้น การที่จะสนับสนุนให้มารดาวัยรุ่นตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น นอกจากการที่ต้องให้ความรู้ให้มารดาตระหนักถึงประโยชน์ของนมแม่แล้ว ยังต้องสร้างสังคมหรือค่านิยมของคนในสังคมที่เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ต้องกระทำเป็นปกติด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Swanson V, Hannula L, Eriksson L, Wallin MH, Strutton J. ‘Both parents should care for babies’: A cross-sectional, cross-cultural comparison of adolescents’ breastfeeding intentions, and the influence of shared-parenting beliefs. BMC Pregnancy Childbirth 2017;17:204.

สตรีที่ให้นมบุตรเสี่ยงต่อกระดูกบางจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสตรีที่ให้นมบุตรแม้ว่าข้อแนะนำในการได้รับสารอาหารในส่วนของแคลเซียมจะไม่ได้มีความต้องการเพิ่มในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร แต่ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันราว 900-1000 มิลลิกรัม ก็เป็นสิ่งที่สตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรรับประทานไม่ถึงปริมาณที่แนะนำ แล้วสิ่งนี้จะมีผลอย่างไร สำหรับปริมาณแคลเซียมในน้ำนมแม่ที่ผลิตนั้นโดยปกติจะไม่ลดลง แต่จะมีการเพิ่มแคลเซียมมาจากการสลายกระดูก โดยจะพบมีการสลายของกระดูกบริเวณสันหลังช่วงเอวก่อน และจึงเกิดที่กระดูกข้อสะโพก1 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มารดาหยุดการให้นมแม่ กระดูกที่บางก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการให้นมลูก แต่แน่นอนว่า หากมีการสลายของกระดูกในปริมาณที่มากในกลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงหรือต้นทุนของมวลกระดูกน้อยอยู่แล้ว ก็อาจจะเพิ่มโอกาสที่จะมีการหักหรือแตกของกระดูกขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงจะลดการเกิดการสลายของกระดูกจากการขาดแคลเซียมที่พบในสตรีที่ให้นมบุตรได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Teerapornpuntakit J, Chanprapaph P, Karoonuthaisiri N, Charoenphandhu N. Site-Specific Onset of Low Bone Density and Correlation of Bone Turnover Markers in Exclusive Breastfeeding Mothers. Breastfeed Med 2017.

 

สตรีที่ออกกำลังกายจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การออกกำลังกายเป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมทั้งในสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เช่นเดียวกันกับการให้ลูกได้กินนมแม่ก็มีประโยชน์ทั้งต่อตัวสตรีและทารก แต่หากถามว่าสตรีที่ออกกำลังกายจะมีโอกาสที่จะให้นมลูกได้มากกว่าสตรีที่ไม่ได้ออกกำลังกายไหม ทั้งสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันหรือไม่ มีการศึกษาที่ค้นหาคำตอบของคำถามนี้ พบว่า สตรีที่ออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์มักตัดสินใจที่เลือกให้ลูกกินนมแม่ เมื่อตัดสินใจที่เลือกให้ลูกกินนมแม่มากกว่า โอกาสที่ลูกจะได้กินนมแม่มากกว่าก็ตามไปด้วย1 คำอธิบายถึงความสัมพันธ์นี้ อธิบายจากเรื่องของการใส่ใจในเรื่องสุขภาพ? สตรีที่ใส่ใจในสุขภาพมักออกกำลังกายสม่ำเสมอรวมทั้งในระยะตั้งครรภ์ เมื่อใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และนมแม่ก็เป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อสุขภาพจึงมีความสัมพันธ์กัน นอกจากนี้การตระหนักถึงผลประโยชน์ การมีหรือได้รับความรู้ถึงคุณค่าของประโยชน์ของการออกกำลังกายและการกินนมแม่จึงมีเกี่ยวข้องกันในทางอ้อม และการคำนึงถึงเรื่องทั้งสองว่าเป็นเรื่องปกติและควรกระทำอย่างเป็นธรรมชาติ ก็มักพบร่วมกันในสตรีที่มีมุมมองการใช้ชีวิตที่เอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพและธรรมชาติ ดังนั้น หากปลูกฝังค่านิยมในการรักษ์สุขภาพให้กับสตรีก็น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Tucker EA, Fouts HN. Connections Between Prenatal Physical Activity and Breastfeeding Decisions. Qual Health Res 2017;27:700-13.