คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

จะลดความเจ็บปวดจากการเจาะเลือดทารกได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หัตถการต่าง ๆ ที่ทำในทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ การเจาะเลือดและการฉีดวัคซีน โดยทั่วไปมักไม่มีการใช้ยาแก้ปวดหรือให้ยาระงับความรู้สึกแก่ทารก ซึ่งผลเสียอาจเกิดในทารกที่มีความเจ็บป่วยอยู่แล้ว ร่างกายอ่อนแอ การร้องไห้หรือความเจ็บปวดอาจนำมาซึ่งการใช้หรือเผาพลาญพลังงานสูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจส่งผลทางด้านจิตใจหรือภาวะแทรกซ้อนต่อระบบประสาทได้ ได้มีการศึกษาวิธีที่จะลดความเจ็บปวดจากการทำหัตถการ การเจาะเลือด พบว่า การนวดทารก และการให้ทารกกินนมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดของทารกระหว่างการทำหัตถการได้อย่างมีนัยสำคัญ1 ซึ่งการนวดทารกและการให้ทารกกินนมแม่เป็นวิธีที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม สามารถให้การดูแลรักษาได้ในทุกสถานพยาบาล ไม่มีผลข้างเคียง และไม่มีค่าใช้จ่ายใด ที่เพิ่มขึ้นจากกระบวนการการให้การดูแลรักษาเหล่านี้เลย ดังนั้น จึงควรที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติในการลดความเจ็บปวดในการทำหัตถการของทารกด้วยการนวดหรือการให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zargham-Boroujeni A, Elsagh A, Mohammadizadeh M. The Effects of Massage and Breastfeeding on Response to Venipuncture Pain among Hospitalized Neonates. Iran J Nurs Midwifery Res 2017;22:308-12.

 

การผ่าตัดคลอด มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอด โดยทั่วไปแล้ว หากพิจารณาตามความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรจะมีการผ่าตัดคลอดราวร้อยละ 15 แต่ในปัจจุบัน หากติดตามข้อมูลของการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลรัฐบาลพบว่ามีการผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้นคือร้อยละ 40-50 ขณะที่การผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเอกชนพบร้อยละ 80-90 ซึ่งจะเห็นว่า อัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงเกินความจำเป็นนี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพมารดาและทารกด้วย กล่าวคือ มารดาที่ผ่าตัดคลอดจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาดมสลบเพิ่มขึ้น เสียเลือดจากการคลอดเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น การพักฟื้นหลังผ่าตัดคลอดยาวนานกว่าการคลอดปกติ ทารกที่ผ่าตัดคลอดมีโอกาสหายใจเร็วผิดปกติสูงขึ้น และสำหรับในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเริ่มต้นได้ช้า ส่งผลให้น้ำนมแม่มาช้า ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มจะต่ำกว่ามารดาที่คลอดปกติ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าตัดคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า การผ่าตัดคลอดลดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกสูงถึงร้อยละ 47 และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนที่สี่ร้อยละ 391 หากมารดาและครอบครัวทราบและเข้าใจถึงข้อเสียและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแล้ว ควรดูแลตนเองระหว่างการฝากครรภ์และปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด เพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao J, Zhao Y, Du M, Binns CW, Lee AH. Does Caesarean Section Affect Breastfeeding Practices in China? A Systematic Review and Meta-Analysis. Matern Child Health J 2017;21:2008-24.

การศึกษาของมารดากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การศึกษาเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้บุคคลรู้จักดูแลตนเองรวมทั้งในเรื่องสุขภาพและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนปีของการศึกษากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่มีการศึกษาน้อยกว่า 6 ปี เลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่ามารดาที่มีการศึกษามากกว่า 6 ปีถึงร้อยละ 10 และมารดาที่มีการศึกษาน้อยกว่า 12 ปี เลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่ามารดาที่มีการศึกษามากกว่า 12 ปีถึงร้อยละ 91 จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องของการศึกษายังเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นความรู้เบื้องต้นที่จะเอื้ออำนวยให้บุคคลมีความพร้อมในการที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติม การพัฒนาเรื่องการศึกษาไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพรวมทั้งเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงควรดำเนินการไปด้วยกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao J, Zhao Y, Du M, Binns CW, Lee AH. Maternal education and breastfeeding practices in China: A systematic review and meta-analysis. Midwifery 2017;50:62-71.

 

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อภาคส่วนสังคม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นมแม่มีประโยชน์และเป็นผลดีต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารก ทั้งเป็นผลในระยะสั้นและระยะยาวในช่วงของการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ภาคส่วนของคนในสังคมต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงความสำคัญของการให้ทารกได้กินนมแม่ โดยในส่วนของภาครัฐควรมีการวางนโยบายเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ชัดเจน มีการติดตามข้อมูลรวมทั้งตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่จะบ่งบอกถึงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมมีการประเมินผลและปรับเปลี่ยนแนวทางการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามข้อมูลที่มีการศึกษาและวิจัย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีความต่อเนื่อง1

? ? ? ? ? ? ?สำหรับภาคส่วนของการศึกษา ควรสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความรู้ที่จะให้การดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการวางบันไดอาชีพให้บุคลากรเหล่านี้มีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน และสนับสนุนให้ดำรงการทำงานอยู่ในสายงานนี้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องอดทนภายในงานที่หนัก ค่าตอบแทนที่น้อย หรือการที่ขาดความเอาใจใส่หรือความสนใจของผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชา สร้างระบบการประเมินการทำงานตามภาระงานที่ได้กระทำ ซึ่งยังมีความจำเป็นเนื่องจากมีความขาดแคลนของบุคลากรในสายงานนี้

? ? ? ? ? ? ? ในภาคส่วนของเอกชน การให้การสนับสนุนในด้านนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ การจัดเวลาพักให้สามารถบีบเก็บนมแม่ได้ รวมทั้งจัดมุมนมแม่และอุปกรณ์สนับสนุน นอกจากนี้ ในส่วนของภาคสื่อสารมวลชน ควรสื่อสารให้เกิดความตื่นตัวถึงความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ที่จะมีการส่งเสริมให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารกตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น จะเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น แม้จะมองเป็นเรื่องพื้นฐานตามธรรมชาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนทุกภาคส่วนในสังคมควรร่วมกันส่งเสริมเพื่อสร้างต้นทุนทางสุขภาพที่ดีให้แก่ทารกที่จะเจริญเติบโตเป็นกำลังของสังคมในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. The public health benefits of breastfeeding. Perspect Public Health 2017;137:307-8.

 

 

นมแม่ช่วยลดการเกิดเบาหวานในแม่และลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้ว่ากระแสเรื่องการดูแลสุขภาพจะมีการตื่นตัวกันมากขึ้น แต่พฤติกรรมการกินของคนในสังคมปัจจุบันก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเมตาบอลิก โดยโรคที่มักเป็นกันมาก ได้แก่ เบาหวาน ดังนั้น การหาทางป้องกันการเกิดเบาหวานนอกเหนือจากการดูแลเรื่องพฤติกรรมการกินแล้ว ?จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ การเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าช่วยลดทั้งการเกิดเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาร้อยละ 11-27 และยังช่วยลดการเกิดเบาหวานในลูกด้วยร้อยละ 17 เมื่อได้ติดตามไปนาน 24 ปี1 ซึ่งจะเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากลูกจะได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและส่งเสริมด้านภูมิคุ้มกันให้กับลูกแล้ว ยังมีผลดีต่อทั้งตัวมารดาและทารกในด้านการลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวมารดาและทารกเองแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลสุขภาพของคนในสังคมของประเทศด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Breastfeeding Initiation Associated With Reduced Incidence of Diabetes in Mothers and Offspring: Correction. Obstet Gynecol 2017;129:394-5.