คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

มารดาเป็นไข้เลือดออก ทารกกินนมแม่ได้หรือไม่

IMG_9419

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดต่อจะผ่านพาหะคือยุงลาย ไม่มีการติดต่อผ่านสารคัดหลั่งหรือการสัมผัส ดังนั้นมารดาที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก หากไม่มีอาการรุนแรง มีไข้สูงหรือป่วยหนัก สามารถให้นมบุตรได้ ยังไม่มีข้อมูลรายงานการติดเชื้อไข้เลือดออกผ่านการให้นม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มารดามีไข้สูงจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือดและอาจผ่านน้ำนมได้ ในระหว่างมารดามีไข้สูงจึงแนะนำการงดนมชั่วคราว แต่หากมารดามีน้ำนมที่มารดาปั๊มหรือบีบเก็บไว้ก่อน สามารถนำมาให้ได้ โดยในระหว่างการงดให้นมชั่วคราว มารดาควรกระตุ้นเต้านมโดยการบีบหรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เต้านมคงการสร้างน้ำนมต่อไปได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Maternal infectious diseases, antimicrobial therapy or immunizations: Very few contraindications to breastfeeding. Paediatr Child Health 2006;11:489-91.

?

?

 

การเจ็บเต้านมในระยะแรกหลังคลอด

image

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การที่มารดามีอาการเจ็บเต้านมในระยะแรกหลังคลอด สิ่งผิดปกติที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ การมีท่อน้ำนมอุดตัน (plugged duct) ซึ่งมารดาอาจคลำได้เป็นก้อนหยุ่นที่เต้านม กดเจ็บ ภาวะนี้จะพบในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอดที่น้ำนมเริ่มมามากขึ้น โดยหากมารดาปฏิบัติตัวหรือดูแลเต้านมไม่เหมาะสม ปล่อยให้มีการตึงหรือค้างของน้ำนมอยู่ในเต้านมมาก มารดาจะมีอาการปวดเต้านม ในกรณีที่มารดาใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัดเกินไปอาจเกิดการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนมไม่สะดวกอาจนำไปสู่การเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ การดูแลรักษาต้องพยายามให้มีการระบายน้ำนมจากบริเวณท่อน้ำนมที่อุดตัน โดยอาจใช้การนวดเต้านม การประคบน้ำร้อน หรือให้ทารกดูดโดยให้คางของทารกกดบริเวณที่มีก้อนของท่อน้ำนมอุดตัน การเกิดท่อน้ำนมอุดตัน หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อนนี้จะรุนแรงเกิดเป็นภาวะเต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้

? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม การเจ็บเต้านมและหัวนมอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทารกมีภาวะลิ้นติด การหดรัดตัวของเส้นเลือดที่ผิดปกติที่หัวนม (vasospasm) และการใช้เครื่องปั๊มนม1 ดังนั้น การใส่ใจในเรื่องการเจ็บหัวนมและเต้านมของมารดา การสังเกตมารดาขณะให้นมบุตร และช่วยมารดาในเรื่องการเจ็บหัวนมและเต้านม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Berens P, Eglash A, Malloy M, Steube AM. ABM Clinical Protocol #26: Persistent Pain with Breastfeeding. Breastfeed Med 2016;11:46-53.

 

การเจ็บหัวนมและเต้านมจากการใช้เครื่องปั๊มนม

 

S__38199478

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?เครื่องปั๊มนมได้รับการนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากค่านิยมที่ดูเหมือนว่าจะทำให้มารดามีความสะดวกโดยมีที่เครื่องปั๊มนมที่ปั๊มนมได้ทั้งสองข้างและชุดชั้นในที่จะช่วยพยุงหัวปั๊มที่ใช้ประกบกับเต้านม เพื่อให้มารดาสามารถทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ระหว่างการปั๊มนม อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องปั๊มนมจะเพิ่มความสะดวกให้แก่มารดา แต่ก็มีข้อจำกัดและต้องการใส่ใจกับการเลือกซื้อและการใช้เครื่องปั๊มนม โดยการเลือกซื้อขนาดของหัวปั๊มนมที่ใช้ประกบกับเต้านมจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมคือใหญ่กว่าขนาดหัวนมเล็กน้อยเพื่อให้หัวนมสามารถขยับเข้าและออกขณะที่ใช้งานเครื่องปั๊มนม และหากสามารถปรับแรงดูดขณะปั๊มนมได้จะทำให้ลดการเกิดการเจ็บของหัวนมและเต้านมขณะใช้งานเครื่องปั๊มนม มีการศึกษาถึงการบาดเจ็บของหัวนมขณะใช้เครื่องปั๊มนมพบว่า มีมารดาถึงร้อยละ 15 รายงานการบาดเจ็บจากการใช้เครื่องปั๊มนม1 อย่างไรก็ดี เครื่องปั๊มนมที่มีขนาดให้เลือกและปรับแรงดูดขณะปั๊มนมได้ มักมีราคาแพง นอกจากนี้ การดูแลเครื่องปั๊มนมยังมีความจำเป็นต้องดูแลเรื่องความสะอาดตามมาตรฐานการใช้งาน เนื่องจากมีข้อต่อของสายยางต่างๆ ที่ใช้ในการดูดปั๊มนม ซึ่งมารดาต้องศึกษาจากคู่มือการใช้และดูแลเครื่องปั๊มนมของแต่ละบริษัทผู้ผลิต

? ? ? ? ? ?ทางเลือกพื้นฐานในการบีบเก็บน้ำนมที่มารดาจะได้รับการสอนจากบุคลากรทางการแพทย์หลังคลอดก่อนออกจากโรงพยาบาลคือ การบีบน้ำนมด้วยมือ ซึ่งไม่มีอุปกรณ์เสริมใดซับซ้อน ใช้เพียงแก้วหรือถ้วยที่เก็บน้ำนมที่มีใช้อยู่ทั่วไป ซึ่งไม่เสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของหัวนมและเต้านม น่าจะเหมาะสมกับการเลือกใช้งานในยุคเศรษฐกิจพอเพียงในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Qi Y, Zhang Y, Fein S, Wang C, Loyo-Berrios N. Maternal and breast pump factors associated with breast pump problems and injuries. J Hum Lact 2014;30:62-72; quiz 110-2.

 

ปัญหาและการดูแลการใช้ขวดนมในการป้อนนมทารก

IMG_9425

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัญหาในการป้อนนมโดยใช้ขวดนม ที่พบได้แก่ การเลือกซื้อชนิดของขวดและจุกนม การทำความสะอาดขวดและจุกนม ท่าในการป้อนนม และทารกดูดลม ท้องอืด หรือแหวะนม

??????????? ในการดูแลการป้อนนมด้วยขวดนม มีข้อแนะนำดังนี้

? ? ? ? ? ?-การเลือกซื้อชนิดของขวดและจุกนม ควรยึดหลักการดูแลความสะอาดของขวดและจุกนมเป็นสำคัญ เนื่องจากมีขวดและจุกนมหลายชนิด การเลือกซื้อชนิดของขวดและจุกนมควรเลือกชนิดที่ทำความสะอาดได้ง่าย มีซอกหรือจุดที่เป็นที่สะสมของแบคทีเรียน้อย ยังไม่มีการศึกษาใดยืนยันว่าชนิดหรือลักษณะของจุกนมชนิดไหนดีที่สุด แต่มีการศึกษาที่ชี้ว่าวัสดุที่ใช้ทำขวดที่ทำจากแก้วจะทำความสะอาดได้ดีกว่าขวดที่ทำจากพลาสติก1 เนื่องจากหลังจากผ่านการทำความสะอาดไปหลายๆ ครั้งแล้ว ขวดพลาสติกจะมีรอยหรือร่องที่เป็นที่เป็นที่สะสมของแบคทีเรียและทำความสะอาดได้ยากกว่า นอกจากนี้ มารดาจะต้องมีจำนวนขวดและจุกนมที่มากเพียงพอ เนื่องจากทารกกินนมบ่อยวันละ 8-12 ครั้ง และอาจต้องมีเครื่องนึ่งขวดนม ซึ่งในกรณีที่ไม่มีเครื่องนึ่งขวดนม อาจจำเป็นต้องต้มขวดและจุกนมในน้ำเดือดนาน 20 นาที

? ? ? ? ? ?-การทำความสะอาดขวดและจุกนม ส่วนใหญ่ หากมีรายละเอียดของวัสดุที่ใช้ทำ และวิธีการทำความสะอาดที่เป็นข้อแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำที่มีอยู่ที่ฉลากของสินค้า หากไม่มีรายละเอียดแนะนำ โดยทั่วไปในการล้างทำความสะอาดขวดและนม อาจต้องใช้แปรงหรืออุปกรณ์ที่ช่วยล้างขวดและจุกนมเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้น นำขวดและจุกนมไปต้มในน้ำเดือดนาน 20 นาที

? ? ? ? ? -ท่าในการป้อนนม ในการกินนมจากขวด ท่าที่ใช้ในการกินนมของทารกจำเป็นจะต้องมีการประคองศีรษะและลำตัวของทารกให้ทารกอยู่ในท่าที่หายใจและกลืนนมได้อย่างสะดวก โดยขวดนมจะต้องตั้งอยู่ในแนวตั้ง และในขณะที่ให้นม หากมารดาสามารถประสานสายตาและพูดคุยกับทารกจะช่วยสร้างความสัมพันธ์และมีผลดีต่อพัฒนาการของทารก ในการป้อนนมให้ใช้จุกนมเทียมเขี่ยบริเวณริมฝีปากทารก จะกระตุ้นให้ทารกอ้าปากกว้าง จากนั้นปล่อยให้ทารกอมและดูดจุกนม ซึ่งการให้ป้อนนมนั้น มารดาควรต้องสังเกตอาการหิวของทารกและควรเลือกให้นมตามความต้องการของทารก

? ? ? ? ? ?-ทารกดูดลม ท้องอืด หรือแหวะนม ในระหว่างที่ทารกดูดนมจากขวด มารดาจำเป็นต้องให้จุกนมมีน้ำนมหล่ออยู่เต็มเสมอ หากขวดนมเอียงและจุกนมมีลมอยู่ ทารกจะดูดลมเข้าไประหว่างการกินนมจากขวดได้มาก อาจมีอาการท้องอืดหรือแหวะนมได้ นอกจากการใส่ใจในการจับขวดนมให้มีน้ำนมหล่ออยู่เต็มแล้ว ระหว่างการกินนม ควรจะมีการหยุดพักสั้นๆ เพื่อให้ทารกเรอ โดยหากทารกไม่ต้องการกินนมต่อแล้ว จับทารกนั่ง ลูบหลังหรือพาดบ่าเพื่อช่วยลดลมในท้องและป้องกันการแหวะนม

เอกสารอ้างอิง

  1. Chen YL, Kuan WH. Is a Plastic or Glass Feeding Bottle Easier to Be Cleaned? Iran J Public Health 2014;43:1716-7.

?

?

?

?

การใช้ขวดนมในการป้อนนมทารก

นมขวด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? การใช้ขวดนมในการป้อนนมให้กับทารกควรเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการให้อาหารในทารกแรกเกิด เนื่องจากทารกกลไกการดูดนมจากจุกนมเทียมของขวดนมจะมีความแตกต่างจากกลไกการดูดนมแม่ และรูเปิดที่จะให้น้ำนมไหลจากจุกนมเทียมจะใหญ่และไหลได้เร็ว ทำให้ทารกไม่ต้องออกแรงในการดูดนมมาก ทารกจะเกิดการติดขวดนม ทำให้การปรับเปลี่ยนกับมากินนมแม่จากเต้าทำได้ลำบาก และมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่าการป้อนนมด้วยถ้วย1 แต่มีการศึกษาถึงการใช้ขวดนมช่วยป้อนนมในทารกที่มีการเข้าเต้าลำบากจากการที่มีเพดานปากสูงโดยใช้จุกนมเทียมที่มีรูใหญ่ป้อนนมทารกได้2 สำหรับทารกที่ได้รับการป้อนนมโดยใช้ขวดนมพบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุเพิ่มขึ้น3 ภาวะ hypertrophic pyloric stenosis4 และพบว่าอาจจะมีผลต่อพฤติกรรมในการควบคุมการกินอาหารที่ส่งผลทำให้ทารกมีภาวะอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นได้5

เอกสารอ้างอิง

  1. Yilmaz G, Caylan N, Karacan CD, Bodur I, Gokcay G. Effect of cup feeding and bottle feeding on breastfeeding in late preterm infants: a randomized controlled study. J Hum Lact 2014;30:174-9.
  2. Eren A, Bilgin H, Kara S. Feeding an infant with high arched palate by high flow rate bottle nipple. Asia Pac J Clin Nutr 2015;24:756-8.
  3. Avila WM, Pordeus IA, Paiva SM, Martins CC. Breast and Bottle Feeding as Risk Factors for Dental Caries: A Systematic Review and Meta-Analysis. PLoS One 2015;10:e0142922.
  4. McAteer JP, Ledbetter DJ, Goldin AB. Role of bottle feeding in the etiology of hypertrophic pyloric stenosis. JAMA Pediatr 2013;167:1143-9.
  5. Li R, Scanlon KS, May A, Rose C, Birch L. Bottle-feeding practices during early infancy and eating behaviors at 6 years of age. Pediatrics 2014;134 Suppl 1:S70-7.

?