คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การกินนมแม่ช่วยลดระดับน้ำตาลในมารดาที่เป็นเบาหวาน

IMG_1682

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่จำเป็นต้องใช้อินซูลินในการรักษา ขณะที่ให้ทารกดูดนมจะมีระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำลง แต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ1 ซึ่งระดับน้ำตาลของมารดาจะต่ำโดยส่วนใหญ่เมื่อทารกกินนมแม่ ปกติทารกจะกินนมแม่วันละ 8-12 ครั้ง ดังนั้น ระดับของน้ำตาลของมารดาจะลดต่ำลงเป็นระยะทุก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณยาฉีดอินซูลินที่จำเป็นต้องให้ขณะมารดาให้นมบุตร ซึ่งความต้องการอินซูลินจะน้อยลงเมื่อเทียบกับมารดาที่ให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังนั้น การใส่ใจซักถามเกี่ยวกับการให้นมบุตรของมารดาที่เป็นเบาหวานมีความจำเป็น เพื่อประเมินความจำเป็นในการเลือกขนาดของยาให้เหมาะสม และลดภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำตาลในเลือดต่ำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Achong N, McIntyre HD, Callaway L, Duncan EL. Glycaemic behaviour during breastfeeding in women with Type 1 diabetes. Diabet Med 2016;33:947-55.

ผลดีของการกินนมแม่ในระยะยาว

IMG_1504

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?การให้ลูกได้กินนมแม่ นอกจากประโยชน์ของนมแม่ในเรื่องป้องกันการติดเชื้อ ลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของทารกแล้ว ผลดีของการกินนมแม่ในระยะยาวยังมีประโยชน์ต่อความเฉลียวฉลาดของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ความสำเร็จในการเรียน และการทำงานหารายได้ล้วนแล้วมีมากกว่าทั้งสิ้นเมื่อทารกได้กินนมแม่นานโดยเฉพาะนานกว่า 12 เดือนหรือ 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคอ้วนและเบาหวานที่ซึ่งจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ในอนาคต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ และยังมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมในมารดาจากกลไกการป้องกันการตกไข่1 ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในสตรี ซึ่งปัจจุบัน มีแนวโน้มการพบมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในสตรี ลดลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Binns C, Lee M, Low WY. The Long-Term Public Health Benefits of Breastfeeding. Asia Pac J Public Health 2016;28:7-14.

การสร้างคนจากยุทธศาสตร์การกินนมแม่

IMG_1489

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?เป้าหมายของประเทศชาติต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ พื้นฐานของการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ คือ การที่มีสุขภาพแข็งแรง มีความเฉลียวฉลาด และความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นรากฐานในการสร้างทารกที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการสร้างและพัฒนางาน อันเป็นกำลังของประเทศ1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแสของโลกเป็นสังคมสูงอายุ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับทารกที่เกิดขึ้นจำนวนน้อย ซึ่งควรเป็นทารกที่ได้รับการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีจากการเริ่มต้นด้วยการกินนมแม่ องค์การอนามัยโลก องค์กรยูนิเซฟ หรือแม้แต่ธนาคารโลก ปัจจุบันได้กำหนดและถือให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในพันธกิจที่ต้องบรรลุ เพื่อช่วยสร้างคนที่ดีและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Binns C, Lee M, Low WY. The Long-Term Public Health Benefits of Breastfeeding. Asia Pac J Public Health 2016;28:7-14.

น้ำนมแม่ถ่ายทอดภูมิคุ้มกันที่มีชีวิตสู่ทารก

IMG_1661

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีว่า นมแม่มีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันทารกจากความเจ็บป่วยและการติดเชื้อ แต่กลไกที่ช่วยในการป้องกันนั้นเป็นอย่างไร คำอธิบายสำหรับคำถามนี้ บางคนอาจทราบแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งหากจะให้อธิบาย จะขออธิบายเป็นกระบวนการหลักสองกระบวนการ คือ กระบวนที่ส่งผ่านภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่ คือ สารที่เป็นตัวจับและทำลายเชื้อโรค (immunoglobulin A) จะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารรวมทั้งอาการท้องเสีย สำหรับอีกกลไกหนึ่งนั้น ได้แก่ การที่เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีชีวิตจะผ่านจากน้ำนมแม่สู่ระบบน้ำเหลืองในลำไส้ทารก (Peyer?s Patch) ที่ซึ่งจะเป็นที่ส่งผ่านความจำในการต่อต้านเชื้อโรคจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของแม่ไปยังเซลล์เม็ดเลือดขาวของลูก ทำให้ทารกสามารถจะมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีต่อโรคที่แม้ทารกไม่เคยเป็นมาก่อนแต่มารดาเคยเป็นและมีภูมิคุ้มกันต่อต้านโรคนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของทารกจะเข้มแข็งขึ้น1 ดังนั้น น้ำนมแม่จึงให้ทั้งอาหารที่สมบูรณ์ สร้างเกราะป้องกันเชื้อโรค และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของทารกผ่านประสบการณ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีชีวิตในน้ำนมแม่ และอาจจะกล่าวได้ว่า ?น้ำนมแม่เป็นทั้งอาหารและเป็นวัคซีนที่มีชีวิต?

เอกสารอ้างอิง

  1. Cabinian A, Sinsimer D, Tang M, et al. Transfer of Maternal Immune Cells by Breastfeeding: Maternal Cytotoxic T Lymphocytes Present in Breast Milk Localize in the Peyer’s Patches of the Nursed Infant. PLoS One 2016;11:e0156762.

ควรเลือกใช้ยาระหว่างการให้นมหรือหยุดให้ลูกกินนมแม่ดี

IMG_1622

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?หลายครั้งที่แพทย์มักได้รับคำถามว่า มารดามีโรคประจำตัวต้องกินยาจะให้นมลูกได้หรือไม่ กินยาตัวเดียวหรือหลายตัวมีผลต่อการให้นมบุตรต่างกันไหม หรือฉลากยามีข้อความว่าหลีกเลี่ยงการใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แล้วมารดาควรตัดสินใจอย่างไร แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาบางคนอาจรู้สึกลำบากใจ ด้วยยาในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิดมากและความรู้เรื่องยาก็มีความจำเป็นต้องมีติดตามให้มีความทันสมัย อย่างไรก็ตาม มีหลักคิดที่แนะนำให้ใช้ในการตัดสินใจ1 ดังนี้

  • ยาส่วนใหญ่ สามารถให้ได้ในระหว่างการให้นมบุตร จะมียาเพียงบางตัวที่มีข้อบ่งห้ามที่ชัดเจน ได้แก่ ยาต้านมะเร็งหรือยาเคมีบำบัด ยาที่เป็นสารกัมมันตรังสี และกลุ่มยาเสพติดต่างๆ
  • การพิจารณาการเลือกใช้ยา ควรใช้ยาตามความจำเป็น หากสามารถเลือกได้ ควรใช้ยาที่ผ่านน้ำนมน้อย ยาที่มีค่าครึ่งชีวิตของยาสั้นเพราะหากให้ยาหลังทารกกินนมแล้ว ยาจะถูกกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็ว และผ่านไปยังทารกน้อย
  • การติดตามดูผลเสียของยาเฉพาะในแต่ละตัว ก่อนการให้คำปรึกษา อาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อมูลในเว็บไซด์ LactMed ซึ่งจะมีรายละเอียดและผลงานวิจัยที่ทันสมัย
  • ควรพิจารณาเปรียบเทียบถึงประโยชน์ของการหยุดหรือเว้นระยะของการกินนมแม่ และกลับมาให้นมแม่ใหม่ในกรณียามีผลเสียต่อทารกกับการเลือกที่จะใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกว่า ข้อมูลประโยชน์ด้านใดมีสูงกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Davanzo R, Bua J, De Cunto A, et al. Advising Mothers on the Use of Medications during Breastfeeding: A Need for a Positive Attitude. J Hum Lact 2016;32:15-9.