คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การใช้ยากระตุ้นน้ำนม: Domperidone จำเป็นหรือไม่และกรณีศึกษาจากโรงพยาบาลนครพิงค์

วิทยากร รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ และทีมโรงพยาบาลนครพิงค์

????????? ก่อนอื่นต้องมีการทบทวนความรู้พื้นฐานของการสร้างน้ำนม ซึ่งระยะของการสร้างน้ำนมมี 3 ระยะที่สำคัญ โดยกลไกการกระตุ้นการสร้างน้ำนมที่สำคัญในระยะที่สาม คือ การให้ทารกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า สำหรับฮอร์โมนโปรแลคตินที่ช่วยในการสร้างน้ำนมในระยะหลังคลอด 7 วัน หากมารดายังคงให้นมบุตรอยู่ ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินจะยังสูงอยู่เกินกว่าค่าปกติในสตรี ดังนั้น ยา domperidone ซึ่งออกฤทธิ์ผ่านกลไกการกระตุ้นการเพิ่มของระดับฮอร์โมนโปรแลคตินจึงไม่เกิดประโยชน์ในการใช้ยาในระยะนี้ นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนปัจจัยสาเหตุที่ทำให้น้ำนมไม่พอจากสาเหตุอื่นพบได้บ่อยกว่า ได้แก่ การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า การเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม และการให้ลูกกระตุ้นดูดนมน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนเสมอ โดยการเริ่มใช้ยา domperidone ขนาดที่แนะนำคือ 10 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง ควรระมัดระวังในมารดาที่มีโรคหัวใจหรือโรคตับ และได้มีการแนะนำถึง galactogogue อื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มฮอร์โมน คือ Somatotropine, Cortisol, Insulin, Leptin, Estrogen, progesterone และ medroxyprogesterone, Oxytocin, Recombinant bovine somatotropin (rBST) และ? Thyrotropin releasing hormone (TRH) กลุ่มยา คือ Metoclopramide, Chlorpromazine และ Sulpiride กลุ่มพืชและสมุนไพร คือ Fenugreek (Trigonella graecum foecum), Fennel (Foeniculum vulgare), Goat?s rue (Galega offinalis), Asparagus (Asparagus racemosus), Anise (Pimpinella anisum), Milk thistle (Silybum marianum) และ Ginger (the root of Zingiber officinale) อธิบายถึงกลไกในการออกฤทธิ์ แต่ข้อมูลยังมีจำกัด

????????? โรงพยาบาลนครพิงค์ได้พูดถึงประสบการณ์ในการดูแลเรื่องการใช้ยากระตุ้นน้ำนมในระยะแรกหลังคลอด โดยอธิบายกลไกของการทำงานร่วมกันของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร มีการโทรศัพท์กลับถึงแพทย์ผู้สั่งยา สอบถามและอภิปรายถึงความจำเป็นในการใช้ยา นอกจากนี้ ยังมีการทำแผ่นโปสเตอร์ให้ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกันรวมทั้งแพทย์ใช้ทุน เพื่ออธิบายข้อบ่งใช้ยากระตุ้นน้ำนมที่เหมาะสม จนในปัจจุบันไม่พบการใช้ยา domperidone กระตุ้นน้ำนมในมารดาระยะแรกหลังคลอดเลย

ที่มาจาก การประชุมเรื่องการใช้ยากระตุ้นน้ำนม: Domperidone จำเป็นหรือไม่และกรณีศึกษาจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ในการประชุมเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2560

 

ความท้าทายในการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่ความสำเร็จ(2)

?อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ปี พ.ศ. 2560 ที่บุคลากรทางการแพทย์ควรทราบถึงเนื้อหาและรายละเอียด ได้แก่

  • ไม่มีการโฆษณานมดัดแปลงสำหรับทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง และอาหารตามวัยของทารกและเด็กเล็กในที่สาธารณะ
  • ไม่มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์แก่แม่
  • ไม่ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ ในโรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพ
  • ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายหรือตัวแทน จัดหรือให้การสนับสนุนในการจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการ เกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก

? ? ? ? ? ? ? หากพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากส่วนของบุคลากรทางในต่างประเทศ ตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัญหาเกิดจาก

  • ความรู้และการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของแพทย์ไม่เพียงพอในระบบบริการ
  • แพทย์ขาดความมั่นใจการให้สุขศึกษาและการให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์
  • แพทย์มีทัศนคติและความรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น เชื่อว่านมผสมเป็นโภชนาการที่สมบูรณ์แบบสำหรับทารก

? ? ? ? ? ?ดังนั้น ความท้าทายในการจัดการเรียนการสอน คือ ต้องทำให้นิสิต/นักศึกษาแพทย์มีความรู้และทักษะโดย

  • สามารถอธิบายปัจจัยเชิงสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • มีโอกาสซักประวัติมารดา การให้อาหารทารกและประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหอผู้ป่วยหรือทางคลินิก
  • ตระหนักถึงคุณค่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และน้ำนมแม่ และความเสี่ยงของการได้รับนมแม่โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • ได้รับการฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทางคลินิก

? ? ? ? ? ? การฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทางคลินิก ที่ควรมีการจัดการเรียนการสอน ได้แก่

  • ค้นหาปัจจัยให้พ่อแม่ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและการตรวจเต้านม
  • เข้าใจผลกระทบการเจ็บครรภ์และวิธีการคลอด
  • บอกผลกระทบของหัตถการและการให้ยาแก่มารดาระหว่างการคลอดและทันทีหลังคลอดต่อการสร้างและหลั่งน้ำนม
  • กระตุ้นช่วยเหลือการให้นมแม่ทันทีหลังคลอด
  • สังเกตการเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้องและการดูดนมแม่จากเต้าอย่างมีประสิทธิภาพ
  • อธิบายวิธีการช่วยเหลือให้แม่ยังคงมีน้ำนมเพียง พอแม้ว่าแม่ลูกต้องแยกจากกัน
  • ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคู่แม่ลูก เกี่ยวกับการให้ยามารดา การวางแผนครอบครัว
  • อธิบายสาเหตุของปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อย
  • อธิบายแนวปฏิบัติการให้อาหารตามวัยที่ถูกต้องและเหมาะสม

? ? ? ? ? ? ? ? นอกจากนี้ นักศึกษาแพทย์ควรมีความเข้าใจถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ได้แก่ การผ่าตัดคลอด การให้นงดัดแปลงสำหรับทารก การแจกนมตัวอย่างสำหรับทารก กฎหมายเรื่องการลาพักหลังคลอด การให้เวลาพักในระหว่างการทำงานเพื่อให้นมทารกหรือบีบเก็บน้ำนม การจัดมุมนมแม่ การให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวในโรงเรียนพ่อแม่ บันไดสิบขั้นส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ป่วย และการบริการเชิงรุกในชุมชน ซึ่งต้องพยายามลดปัจจัยที่มีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งเสริมปัจจัยที่มีผลบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้โอกาสที่มารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จสูงขึ้น

ที่มาจาก การประชุมเรื่องความท้าทายในการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่ความสำเร็จ ในการประชุมเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2560

 

ความท้าทายในการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่ความสำเร็จ(1)

รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์

???? วัตถุประสงค์ของการนำเสนอ

  • อธิบายเหตุผลการจัดการเรียนการสอนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาแพทย์
  • อธิบายสาระการเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาแพทย์
  • อธิบายแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

? ? ? ?โดยเมื่อพิจารณาถึงหัวข้อที่กำหนดในเกณฑ์ของแพทยสภา

  • Infancy and childhood:
    • 3.2.1 infant feeding and breast-feeding
  • Adulthood:
    • 3.4.4 lactating mother
  • Pregnancy, Childbirth, and The Puerperium:
    • (1) breast infection associated with childbirth
    • (2) disorders of breast and lactation associated with childbirth

? ? ? ? ?หากดูข้อแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ จะมีข้อแนะนำตาม 162 คือ

  • 1 Hour = early initiation of breastfeeding within 1 hour of birth;
  • 6 Months = exclusive breastfeeding for the first 6 months of life; and
  • 2 Years = introduction of nutritionally-adequate and safe complementary (solid) foods at 6 months together with continued breastfeeding up to 2 years of age or beyond.

? ? ? ? ? ? การที่จะดำเนินการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น พื้นฐานการจัดการบริการที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีมีความสำคัญ ซึ่งการจัดบริการที่ควรดำเนินการให้เกิดในสถานบริการที่มีการจัดการเรียนการสอน คือ การจัดบริการตามโครงการสายสัมพันธ์แม่ลูก หรือเกณฑ์ส่วนหนึ่งของโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว หรือในปัจจุบันจะอยู่ในเกณฑ์อนามัยแม่และเด็ก ซึ่งควรมีการบูรณาการเกณฑ์เข้ากับระบบงานประจำ โดยในระยะฝากครรภ์เน้นสร้างความมั่นใจให้แก่มารดาว่า มารดาทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แม้มีเต้านมหรือหัวนมที่มีความแตกต่างกัน มีการอธิบายถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่ห้องคลอดพยายามจัดให้การคลอดใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด หลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และเน้นการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังการคลอด ส่งเสริมให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนาน 1 ชั่วโมงเพื่อให้ทารกได้คลืบคลานเข้าหาเต้านมและดูดนมด้วยตนเอง ที่หอผู้ป่วยหลังคลอด ส่งเสริมให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง มีการประเมินการให้ทารกกินนมแม่ และสอนการบีบเก็บน้ำนมสำหรับช่วยเหลือในกรณีที่มารดาและทารกต้องแยกจากกัน สร้างให้มารดาเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนการอนุญาตให้กลับบ้าน พร้อมการนัดติดตามส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คลินิกหลังคลอด คลินิกนมแม่ คลินิกเด็กสุขภาพดี หรือมีการโทรศัพท์หรือออกเยี่ยมบ้าน และส่งเสริมให้มีการส่งต่อการดูแลต่อเนื่องในชุมชน

ที่มาจาก การประชุมเรื่องความท้าทายในการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่ความสำเร็จ ในการประชุมเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2560

ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในสถาบันผลิตแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? จากการนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสถาบันผลิตแพทย์ 4 สถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ โรงพยาบาลชลบุรี และสถาบันสุขภาพเด็ก โดยสถาบันผลิตแพทย์แต่ละสถาบันได้นำเสนอรูปแบบตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยบางสถาบันมีการเรียนการสอนเพื่อการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ชั้นพรีคลินิกในปีที่ 3 มีการจัดการบรรยายเรื่อง lactation และ breast milk composition เมื่อขึ้นชั้นคลินิกได้มีการจัดการเรียนการสอนตามหน่วยบริการที่คลินิกฝากครรภ์ ห้องคลอด หอผู้ป่วยหลังคลอด หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด คลินิกนมแม่ คลินิกทารกสุขภาพดี โดยมีการเก็บ case ในสมุด logbook การเขียนเรื่องการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในรายงานผู้ป่วย มีการประเมินการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติด้วย MCQ และ OSCE โดยในบางสถาบันมีพยาบาล บางสถาบันเป็นแพทย์ประจำบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนการสอน และมีการใช้สื่อที่ได้จากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยมาใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ สำหรับปัญหาที่พบ ได้แก่ การขาดแคลนอาจารย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยสอนและการมีภาระงานที่มาก นอกจากนี้ บางแห่งยังมีความจำกัดในเรื่องสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน

ที่มาจาก การประชุมนำเสนอประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 4 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ โรงพยาบาลชลบุรี สถาบันสุขภาพเด็ก ในการประชุมเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 30 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม 2560

 

การพัฒนาจัดการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อทั้งมารดา ทารก ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากมาย ยกตัวอย่าง ได้แก่ ความรู้และทัศนคติของมารดาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้บริการในระบบสุขภาพ สามี ญาติ เพื่อน สังคม ที่ทำงานหรือสถานประกอบการ ขนบธรรมเนียมประเพณี เศรษฐกิจ สื่อสารมวลชน เป็นต้น

??? โดยในประเทศไทย อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนในปี 2548 ร้อยละ 5.4 ซึ่งต่ำเป็นอันดับที่สามจากสุดท้ายของโลก จากสถานการณ์เดิมที่เป็นอยู่ ทำให้มีการตื่นตัว ร่วมมือ รณรงค์ส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จนได้มีการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้งในปี 2559 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เริ่มต้นที่โรงพยาบาล ดังนั้น การพัฒนาให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และเจตคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยให้การสนับสนุนมารดาและครอบครัวให้สามารถดูแลและเลี้ยงดูทารกได้ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน นั่นคือ การพัฒนาสร้างให้มีครูแพทย์/ครูพยาบาลที่สนใจและเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญด้วย นอกจากนี้ ครูแพทย์ยังจำเป็นต้องมีความรู้ การปฏิบัติที่ทันสมัย สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและมีเพียงพอ ร่วมกับมีการจัดการเรียนการสอน การบริหารหลักสูตรและการประเมินผลที่ชัดเจนและเหมาะสม จึงได้เกิดโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถาบันผลิตแพทย์ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงาน เริ่มต้นในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินที่ผ่านมา ได้แก่

  • การพัฒนาอาจารย์สูติแพทย์และกุมารแพทย์
  • การจัดหลักอบรมอาจารย์ทั้ง basic และ advanced course
  • ผลักดันให้แพทยสภา เพิ่มเกณฑ์ความรู้ความสามารถของบัณฑิตแพทย์ จนได้มีการเขียนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2555 (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012 )
  • จัดทำแผนการเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนิสิต/นักศึกษาแพทย์ในปี 2556 โดยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางคลินิก มีแนวทางการดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลักสำคัญคือ การชี้แจงขอบเขตการจัดการเรียนการสอน
    • การจัดแผนการเรียนการสอน
    • การแนะนำสื่อและวิธีการเข้าถึงสื่อ
    • การประเมินผลในขณะปฏิบัติงานและการสอบลงกอง

? ? ? ? ? ? ? ?ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ในห้องฝากครรภ์ให้ทราบบันไดขั้นที่ 3 การเรียนรู้ที่ห้องคลอดให้ทราบบันไดขั้นที่ 4 การเรียนรู้ที่หอผู้ป่วยหลังคลอดและหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดให้ทราบถึงบันไดขั้นที่ 5-9 การเรียนรู้ที่คลินิกเด็กสุขภาพดีให้ทราบถึงบันไดขั้นที่ 10

  • ผลิตสื่อและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ ตำรา ภาพพลิก powerpoint วิดีโอ CAI อุปกรณ์สอนข้างเตียงและหุ่นที่ใช้สอนแสดง
  • เยี่ยมสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเพื่อรับทราบปัญหาและหาทางช่วยเหลือแก้ไข
  • จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรียนการสอน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้แก่สถาบันผลิตแพทย์ในภูมิภาค ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ครั้ง และภาคใต้ 2 ครั้ง

สำหรับผลผลิตที่ต้องการได้แก่ ?Smart doctor on breastfeeding? ที่ต้องมีความเก่ง พอเหมาะ ถูกต้อง กำลังดี และมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับพยาบาลมี teamwork ที่ดี ที่จะนำสู่เป้าหมาย ?162 คือ เพื่อให้แม่ได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก และหลังจากนั้นให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่า?

ที่มาจากการบรรยายของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ สุวชัย อินทรประเสริฐ และอาจารย์ยุพยง แห่งเชาวนิช ในงานประชุมพัฒนาเครือข่ายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภาคเหนือ วันที่ 30 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2560