คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ท่าอุ้มทารกให้นมแม่แบบขวางตักประยุกต์อาจทำให้หัวนมแม่บาดเจ็บ

IMG_1597

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โดยปกติหลังคลอด มารดาจะได้รับการสอนท่าในการให้นมลูกที่มักใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ ท่าอุ้มขวางตัก ท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ ท่าอุ้มฟุตบอล และท่านอนตะแคง นอกจากนี้ ยังมีท่าอุ้มเอนหลัง (laid back) ที่เริ่มมีการใช้กันมากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าน่าจะช่วยในการพัฒนาการของทารกได้ดี แต่มีการศึกษาที่พบว่า การอุ้มทารกให้นมท่าขวางตักประยุกต์สัมพันธ์กับการทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมแม่เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า (95%CI 1.03-3.50)1 ซึ่งในการปฏิบัติท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ มารดาจะใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะทารก ควบคุม และขยับเข้าเต้าได้ดี แต่หากการเข้าเต้านั้นทำโดยไม่เหมาะสม ทารกเอียงคอ หรือมารดาใช้มือกดศีรษะทารกมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมได้ ดังนั้น นอกจากการสังเกตการใช้ท่าต่างๆ ในการให้นมแล้ว มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องดูลักษณะสำคัญสี่ประการ ได้แก่ ศีรษะและลำตัวทารกอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดกับมารดา ทารกหันหน้าเข้าหาเต้านม โดยตำแหน่งของจมูกอยู่ที่เต้านม และเมื่อทารกเข้าเต้าทารกจะอมทั้งหัวนมและลานนม โดยจะสังเกตเห็นลานนมด้านบนมากกว่าด้านล่าง นอกจากนี้ การสอนให้มารดาให้นมบุตรได้มากกว่าสองท่าก่อนกลับบ้านจะสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกที่ยาวนานขึ้นด้วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. Thompson R, Kruske S, Barclay L, Linden K, Gao Y, Kildea S. Potential predictors of nipple trauma from an in-home breastfeeding programme: A cross-sectional study. Women Birth 2016.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Sinutchanan W. The Number of Infant Feeding Positions and the 6-Month Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2015;98:1075-81.

การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_1732

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในยุคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง สภาวะของสังคมกดดันให้มารดาต้องออกไปทำงานมากขึ้น ไม่ได้อยู่เป็นแม่บ้านอย่างเดียวเหมือนในยุคก่อน เมื่อมารดาต้องทำงาน อาจมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความเคยชินหรืออาจได้รับผลจากการตลาดสื่อโฆษณา เรื่องเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีเรี่ยวแรงในการทำงาน รวมทั้งสามารถดูแลงานบ้านและให้นมบุตรได้ การใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตรนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่าส่วนประกอบของเครื่องดื่มเหล่านี้ประกอบด้วยสารใดๆ บ้าง โดยทั่วไป จะมีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ในส่วนผสมที่สูง อาจมีคาเฟอีนหรือสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ บางตัวที่ไม่ทราบรายละเอียดของสารประกอบที่ออกฤทธิ์ในสมุนไพรเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ารใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอาจมีผลเสียต่อทารกได้จากการได้รับคาเฟอีน ที่จะทำให้ทารกกระสับกระส่าย หงุดหงิด ไม่ยอมนอน หรือมีผลเสียจากการได้รับวิตามินหรือเกลือแร่ในขนาดที่สูงเกินไป หรืออาจได้รับผลเสียจากสมุนไพรที่ไม่ทราบส่วนประกอบที่แน่ชัด1 จึงมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร นอกจากนี้ การจัดสรรแบ่งบันงานบ้านในครอบครัวในยุคคุณแม่ทำงาน อาจช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า ทำให้มารดาสามารถให้นมลูกด้วยความผ่อนคลาย ปราศจากความกังวลที่ส่งผลต่อการไหลและความเพียงพอของน้ำนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorlton J, Ahmed A, Colby DA. Energy Drinks: Implications for the Breastfeeding Mother. MCN Am J Matern Child Nurs 2016;41:179-85.

การใช้ยาควบคุมอารมณ์ในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_1638

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เรื่องความเครียด อาการหงุดหงิด หรือการมีอารมณ์โกรธ เริ่มพบเป็นปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสังคมมีการแข่งขันสูง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คนในสังคมเกิดภาวะเครียด ทั้งนี้รวมถึงมารดาที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมหรือปรับอารมณ์ (mood stabilizer) ความสงสัยที่ตามมาคือ การใช้ยาควบคุมอารมณ์นั้นมีผลเสียต่อทารกหรือไม่ มีการศึกษาโดยเก็บข้อมูลในมารดาที่ใช้ยาควบคุมอารมณ์และให้นมบุตร พบว่า ไม่พบผลเสียใดๆ ในมารดาที่ได้รับยาควบคุมอารมณ์และให้นมบุตร1 อย่างไรก็ตาม การป้องกัน ดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ น่าจะช่วยเรื่องสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรง อันจะส่งผลช่วยในสุขภาพจิตที่ดี ทำให้มารดาสามารถหลีกเลี่ยงความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาเหล่านี้ระหว่างการให้นมบุตรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Uguz F, Sharma V. Mood stabilizers during breastfeeding: a systematic review of the recent literature. Bipolar Disord 2016;18:325-33.

นมแม่น่าจะช่วยเรื่องการทำงานของปอด

IMG_1712

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การกินนมแม่จะประโยชน์ในเรื่องภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังอาจช่วยเรื่องการทำงานของปอดด้วย โดยมีการศึกษาในทารกที่มีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้ เมื่อติดตามการทำงานของปอดเมื่อทารกเติบโตขึ้นและย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบว่า ผลการทดสอบบางอย่างบ่งชี้ว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีการทำงานของปอดที่ดีกว่า1 ซึ่งยิ่งช่วยยืนยันประโยชน์ของนมแม่ที่กล่าวไว้ในตอนต้นและจะได้ประโยชน์มากขึ้นในทารกที่มีประวัติที่เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้

เอกสารอ้างอิง

  1. Waidyatillake NT, Simpson JA, Allen KJ, et al. The effect of breastfeeding on lung function at 12 and 18 years: a prospective cohort study. Eur Respir J 2016;48:125-32.

ตัวอย่างนมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

IMG_1677

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือ การตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อทั้งในโทรทัศน์และ internet โดยหากมารดาและครอบครัวขาดความรู้ที่เท่าทันและครบถ้วน สื่อเหล่านี้จะเป็นช่องทางที่จูงใจและทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลงได้ นอกจากนี้ การแจกตัวอย่างนมผงยังมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย มีการศึกษาพบว่า การแจกตัวอย่างนมผงส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้านนั้นลดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนลง1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ควรเป็นแกนนำในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ช่วยสื่อสารทางการตลาดสำหรับนมแม่และอาหารทารกและเด็กเล็กให้ครบถ้วนและรอบด้านในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกทางหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

  1. Waite WM, Christakis D. The Impact of Mailed Samples of Infant Formula on Breastfeeding Rates. Breastfeed Med 2016;11:21-5.